วันที่ 27 มีนาคม 67 ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่องพรรคการเมืองสร้างชาติ และการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการพรรคการเมือง โดย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล , นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย , นายภราดร ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ ศ.วุฒิสาร ตันไชย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมี นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวเปิดงาน และนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.กล่าวรายงาน
ในการเสวนามีการตั้งประเด็นคำถามประเด็นพรรคการเมืองเอื้อประโยชน์ให้การเมืองไทยได้อย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ก่อตั้งขึ้นมีเจตนาว่าต้อง การเข้ามาบริหารบ้านเมืองและนำนโยบายเข้ามาใช้ให้ประโยชน์กับประชาชน คงไม่มีพรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นแล้วอยากเป็นฝ่ายค้าน อีกทั้งพรรคการเมืองได้ตั้งขึ้นและถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญ ตลอดจนบริบทของรัฐธรรมนูญนั้นมีความเข้มงวดในการควบคุมพรรคการเมือง ซึ่งทางพรรคการเมืองมองว่าเรามีเจตนาในจัดตั้งพรรคขึ้นก็จริง แต่เราถูกจำกัดมากมายหลายประการในข้อกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถที่จะเรียกร้องอะไรได้ จึงมองว่าทางออกที่จะดีสุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า แทนที่พรรคจะบริหารชาติบ้านเมือง แต่กลับถูกมองว่ามาบริหารอำนาจ และบางครั้งก็ถูกยุบพรรค จึงทำให้ความต่อเนื่องในการบริหารชาติบ้านเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก็ไม่เกิดขึ้น
"โดยลึกๆ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยในเรื่องการยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นโดยง่าย ซึ่งเราเคยเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายเรื่องโดยเฉพาะมาตรา 92(2) และ(3) แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็แก้ไม่สำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และในส่วนพรรคการเมืองก็ควรสร้างนักการเมืองมืออาชีพขึ้นมาบริหารพรรคการเมือง แต่ในปัจจุบันเรายังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะส่วนมากก็มีอาชีพหลักควบคู่ไปด้วย ท้ายที่สุดแล้วมองว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่" นายชูศักดิ์ กล่าว
นายวุฒิสาร กล่าวว่า พรรคการเมืองก่อนจะสร้างชาติควรมองว่าจะสร้างนักการเมืองที่ดีได้อย่างไร ซึ่งปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองมั่นคงและเดินต่อได้ คือปัจจัยที่อยู่ภายในพรรคการเมือง เช่น แก่นกลางที่เป็นชุดความคิดอุดมการณ์ จุดมุ่งหมายเดียวกัน ที่สมาชิกพรรคจะมีความคิดเห็นตรงกัน หรือเชื่อเรื่องเดียวกันใช่หรือไม่ เพราะหากจะต้องมีอิสระในการจัดการบริหาร พรรคการเมืองควรเติบโตด้วยธรรมชาติไม่ใช่เติบโตด้วยกติกา คนที่จะควบคุมพรรคคือสมาชิกพรรคการเมือง คนที่จะรับผิดชอบคือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ
นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่า ระบบกฎหมายควรเอื้อให้พรรคการเมืองเติบโตโดยประชาชน ซึ่งเรื่องที่สำคัญคือเราต้องยอมรับว่าพรรคการเมือง มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย ซึ่ง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา บทบาทของ ส.ส.ในการอภิปรายในสภาฯไปในทิศทางที่ดี และเห็นชัดเจนว่าหากคุณจะพูดอะไรที่ไม่มีข้อมูลเป็นไปไม่ได้แล้ว เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ทุกคนต่างมีข้อมูล ข้อเท็จจริงเข้ามาอ้างอิงในการอภิปราย แต่ที่ผ่านมา กติกาหรือกฎหมายพรรคการเมือง ไม่เคยให้พรรคการเมืองเติบโตโดยธรรมชาติ แต่กฎหมายออกมาซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆมีกติกาเพิ่มมากขึ้น สำหรับกฎหมายนี้จะต้องให้เวลาเพื่อเกิดการพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่าออกกฎหมายเพื่อการยุบพรรคอย่างเดียว เพราะพรรคการเมืองถือว่าเป็นสมบัติของสมาชิกพรรค เราต้องออกกติกาให้ดีและมีมายด์เซ็ตใหม่
ด้าน นายชัยธวัช กล่าวว่า น่าเสียดายที่สังคมไทยสวนทางกับโลก และบอกว่าพฤติกรรมของพรรคก้าวไกลมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองและถูกยุบพรรค ซึ่งในแง่นี้หมายความว่า พรรคการเมืองนี้ไม่น่าจะมีบทบาทให้การเมืองดีและสร้างชาติ แต่ในทางตรงกันข้ามยังถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองทำลายชาติเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ดี ซึ่งมีนัยยะที่เป็นประเด็นสำคัญอยู่ว่าพรรคการเมืองมีความสำคัญมากในการสร้างชาติ ในฐานะผู้มีบทบาททางตรงในการกำหนดนโยบายสาธารณะรวมถึงการออกกฎหมาย ซึ่งพรรคก้าวไกลในการกำหนดนโยบายสาธารณะ เราระดมสมองจากนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญ แต่ในเมืองไทยเราไม่เคยเห็นพัฒนาการทางการเมือง หรือมีการถกเถียงทางการเมืองกันอย่างจริงจัง ดังนั้น ตนคิดว่าควรจะมีได้แล้ว
นายชัยธวัช ยังย้ำอีกว่า การเมืองดีไม่มีอะไรมากต้องวางอยู่บนหลักการพื้นฐานง่ายๆ คือ 1.อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 2.สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องได้รับการคุ้มครอง 3.กฎกติกาอิสระและเป็นธรรมหรือไม่ หากเราคิดว่าการเมืองดี เมื่อเราออกแบบกฎกติกาที่เชื่อว่าจะเอื้อต่อการพัฒนาทางการเมือง
"ทั้งนี้ เชื่อว่าประชาชนเรียนรู้ได้ แต่หากการเมืองดีคือการที่ยุบพรรคการเมืองกันอย่างเป็นปกติ พรรคการเมืองถูกสั่งว่าหาเสียงแบบนี้ไม่ได้และอันตรายไป จนถึงการยุบพรรคนั้น และกฎพรรคการเมืองนั้นยุบยิบไปหมด การใช้งบประมาณไม่เอื้อต่อการสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งเลย หากเราออกแบบกฎกติกาพรรคการเมืองด้วยพื้นฐานที่เรียกว่า เป็นการเมืองที่ไม่ไว้ใจประชาชนและต้องการพยายามควบคุมอำนาจ และสถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนให้อยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่เป็น "คุณพ่อรู้ดีไปหมด" ว่าการเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร อันนี้ถือเป็นแก่นสำคัญมากๆ ที่การเมืองไทยยังไม่จบว่าจะมีคำตอบจากเรื่องนี้อย่างไร" นายชัยธวัช กล่าว
นายภราดร กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การเมืองจะดีหรือไม่ดี พรรคการเมืองจะดีหรือไม่ดีนั้น ต้องเริ่มต้นจากกติกาดีก่อน พรรคการเมืองเป็นบ้านของสมาชิกและทำหน้าที่ในการนำเสนอแนวทางความคิดของตัวเองสู่สาธารณะแล้วให้สาธารณะ ได้วิพากษ์วิจารณ์เห็นตัวตนของพรรค สอบถามประชาชนต้องการอะไรแล้วเอาความต้องการนั้นมาเป็นแก่นหลักคิดนำเสนอต่อสังคมในสนามเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนเลือกเข้าสู่การเป็นคณะบริหาร นี่คือสิ่งที่สังคมไทยปรารถนาที่จะเห็น แต่ที่ผ่านมาพรรคการเมืองถูกกดทับ ถูกบีบคั้น ถูกทำให้รู้สึกว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นสิ่งที่สังคมไม่ปรารถนา จึงออกกติกามาเหมือนกับว่าพยายามที่จะเข่นฆ่านักการเมืองและพรรคการ เมืองไม่ให้พรรคการเมืองมีการเติบโต โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และ 2560 ที่มีกติกาในการยุบพรรค ซึ่งตนคิดว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองจากกติกาที่เขียนเหตุผลไว้ เพราะพรรคการเมืองเกิดจากประชาชน ดังนั้น จะยุบพรรคควรมาจากประชาชน ซึ่งจะเห็นว่าในอดีตมีหลายพรรคการเมือง แต่ปัจจุบันก็ไม่มีสถานะแล้ว เพราะประชาชนไม่เลือก
คิดว่าสิ่งที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าประเด็นแรกที่จะต้องทำคือการแก้ไขกติกาให้เป็นสากล แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ผ่าน สสร.ที่มาจากประชาชน นี่คือเรื่องสำคัญที่เป็นหัวใจของการเลือกตั้งรอบนี้และอนาคตต่อไป หากกติกาเข้มแข็งเป็นสากลมาจากประชาชน ซึ่งยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะออกมาแบบไหนแต่แน่นอนว่าเมื่อมาจากประชาชนย่อมดีกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ ทั้งฉบับ 2550 และ 2560 ดังนั้น เมื่อกติกาดี พรรคการเมืองดี ก็นำไปสู่การเมืองที่ดี
" พรรคการเมืองต่อไปนี้ถ้าเป็นกติกาใหม่เราจะไม่ต่อสู้การเมืองบนคำว่าเผด็จการ หรือคำว่าประชาธิปไตย แต่จะมาต่อสู้กัน ว่าเราเป็นพรรคการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม เป็นพรรคการเมืองเสรีเราจะทำเศรษฐกิจแบบทุนเสรีทำเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอะไรก็แล้ว แต่นี่คือช่องทางการนำเสนอของพรรคการเมืองที่จะเสนอต่อประชาชนให้ได้เลือกในสิ่งที่เขาควรจะเลือก ไม่ใช่ว่ามาเลือกว่าเป็นเผด็จการประยุทธ์ หรือไม่ประยุทธ์ หรือมีลุงไม่มีเรา อะไรแบบนี้" นายภราดร กล่าว
นายภราดร กล่าวว่า พฤติกรรม การกระทำของพรรคการเมืองต่างๆ จะมีผลต่ออนาคตที่ประชาชน จะเป็นผู้ตัดสินผ่านการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองตรวจสอบไม่ได้องค์กรอิสระยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบนักการเมืองอยู่ดี แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่พอเหมาะพอสม ที่ไม่ใช่ว่ามีธงการเมือง ที่จะกลั่นแกล้งทางการเมืองกัน อย่างเรื่องของการยุบพรรค ซึ่งตนเชื่อว่าการยุบพรรคทุกครั้งนั้นมีธงทางการเมืองและเชื่อว่าสังคมก็เห็นแบบนั้นเหมือนกัน ทั้งนี้ ตนไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระไม่ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายแต่พอเหมาะสม และการตรวจสอบที่เข้มแข็งที่สุดคือการตรวจสอบโดยประชาชน
นายภราดร กล่าวต่อว่า สำหรับพรรคการเมืองที่ไม่รักษาคำพูดตอนหาเสียงจะมีบทลงโทษอย่างไรนั้น หากไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ก็จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยกตัวอย่างพรรคภูมิใจไทยกับนโยบายกัญชา ซึ่งระบุว่าจะทำกัญชาให้เป็นกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรมว.สาธารณสุข ก็ทำให้เป็นกัญชาเสรีทางการแพทย์และสำเร็จไปส่วนหนึ่ง แต่กฎหมายนั้นไม่สำเร็จเพราะอะไรก็แล้วแต่ พรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้นทำให้องค์ประชุมไม่ครบไม่เห็นด้วย พยายามเตะถ่วงให้กฎหมายนี้ไม่ผ่านจะด้วยเหตุผลอื่นๆ ก็มีผลกระทบมาถึงการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้พรรคการเมืองอื่นนำมาโจมตีในสนามเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นคิดว่าการพูดแล้วไม่สามารถทำตามที่หาเสียงได้แม้บทลงโทษทางกฎหมายไม่มี แต่ก็จะถูกบทลงโทษทางสังคม และต่อไปส่งผลต่อพรรคการเมืองในอนาคต