วันที่ 27  มีนาคม  2567  นายลิขิต  ไหวพรม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน เปิดเผยว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้มีการใช้อากาศยานปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันควบคู่กับภาคพื้นดิน โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน และ เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพื้นที่ภาคเหนือ กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการบินตรวจดูจุดความร้อน- ไฟป่า ในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติสาละวิน เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนใช้น้ำดับไฟป่า

 


 
โดยเวลาประมาณ 15.00 น. ของวานนี้ ( 26 มีนาคม )  เฮลิคอปเตอร์ได้ปฏิบัติการขึ้นบินพร้อมอุปกรณ์แบมบี้บัตเกต Bambi Bucket ขนาด 500 ลิตร เพื่อใช้ในการดับไฟป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน ตามพิกัดที่บินตรวจพบไฟป่า ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานภาคพื้นของเจ้าที่ดับไฟป่า 2  จุด ซึ่งลักษณะไฟป่าเป็นการลุกลามต่อเนื่องในเขตป่า ที่ บริเวณขุนห้วยหวาย โดย ฮ.บิน ตักน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สะลาบ บ้านแม่สะลาบ ม.8 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง ระยะห่างจากจุดไฟ ประมาณ 4.5 กม.พื้นที่จุดที่ 2 บริเวณป่าบ้านห้วยสิงห์  ฮ. บินตักน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำอ่างบ้านห้วยสิงห์  ม.4 ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ระยะห่างจากจุดไฟป่า ประมาณ 4.11 กม. โดยลำเลียงน้ำ จำนวน 32 เที่ยวบิน ตักน้ำดับไฟป่า จำนวน 15,360 ลิตร

สำหรับ ปริมาณค่าฝุ่น MP 2.5 ใน อ.เมืองแม่ฮ่องสอน  มีสูงสุด รายชั่วโมง 166.1 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ย 117.7 มคก./ลบ.ม. สูงสุดของภาคเหนือ ขณะที่ แอพพลิเคชั่น IQAir รายงานเวลา 07.00 น.วันนี้ ( 27 ) สูงถึง 199.3 มคก./ลบ.ม., แอพพลิเคชั่น Air4Thai รายงาน เวลา 08.00 น. วัดได้ 122.0 มคก./ลบ.ม. โดยค่าปริมาณฝุ่นขนาดเล็กมีค่าแตกต่างกันระหว่างสถานีตรวจจับฝุ่น กับ แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ แต่ก็ถือว่าค่าฝุ่นพิษสูงในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ต่อเนื่องมากว่า 1 เดือนแล้ว ขณะที่ทัศนวิสัยเวลา 07.00 น.วันนี้ วัดได้ 1.5 กม.ซึ่งถือว่าต่ำมาก

ในส่วนของจุดฮอทสปอต ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนสรุปจุดความร้อนช่วงเช้า ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2567 ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจุดความร้อนขึ้น 72 จุด ประกอบด้วย อ.ปาย 1 จุด , อ.เมืองแม่ฮ่องสอน 2 จุด , อ.ขุนยวม 5 จุด , อ.แม่ลาน้อย 10 จุด , อ.แม่สะเรียง 48 จุด และ อ.สบเมย 6 จุด โดยจะเห็นว่า จุดความร้อนที่ อ.แม่สะเรียงสูงที่สุดกว่าอำเภออื่น ๆ ส่วน อ.เมืองแม่ฮ่องสอน มีจุดความร้อนเพียง 2 จุด แต่ค่าปริมาณฝุ่น MP 2.5 กลับสูงกว่าอำเภออื่น ๆ 

ด้าน นายทวีชัย กันทใจ หน.หน่วยฯ มส.2 (เมืองแม่ฮ่องสอน) / หน่วยฯ มส.8 (ม่อนตะแลง)ได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 เวลา 14.30 น. สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน โดยหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้เมืองแม่ฮ่องสอน, หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.2 (เมืองแม่ฮ่องสอน) ,หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.8 (ม่อนตะแลง), ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟกรมป่าไม้ (เพชรบุรี) และเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าแม่ฮ่องสอน ได้รับแจ้งเหตุไฟไหม้ป่าทางโทรศัพท์ บริเวณป่าบ้านขุนกลาง หมู่ 11 ต.ปางหมู อำเภอเมือง จ.แม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งซ้าย จึงได้ประสานเครือข่ายราษฎรชุดเฝ้าระวังไฟป่าบ้านขุนกลาง ราษฎรในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู เข้าทำการดับไฟ และสามารถเข้าดำเนินดับไฟได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พื้นที่ป่าถูกไฟไหม้โดยประมาณ 15 ไร่ ชนิดป่า เต็ง รัง สาเหตุ ไม่ทราบสาเหตุ

ขณะที่ นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าบริเวณสำนักสงฆ์รอยพระพุทธหัตถ์ บ้านดงสงัด ม.6 ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยหลังจาก ได้รับแจ้งเหตุไฟไหม้ป่าบริเวณสำนักสงฆ์รอยพระพุทธหัตถ์ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง อำเภอแม่สะเรียง ได้มีการประสานงาน และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส. 5 แม่สะเรียง เทศบาลตำบลเมืองยวมใต้ สมาชิก อส. กองร้อยอาสารักษาดินแดน อำเภอแม่สะเรียงที่ 3 และหน่วยงานในพื้นที่ร่วมบูรณาการดับไฟ พร้อมร่วมกันทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามเข้ามาในพื้นที่สำนักสงฆ์รอยพระพุทธหัตถ์อีกต่อไป