เห็นทีแม้แต่สำนวนไทยก็ยังใช้ไม่ได้

กับคำกล่าวที่ว่า “เอาน้ำลูบท้องไปก่อน” อันหมายถึง การอดทนในยามยาก โดยกินน้ำแทนข้าวไปก่อน

ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์โลกเราในปัจจุบัน ก็อาจไม่มีน้ำ หรือมีน้ำก็ไม่เพียงพอต่อการเอามาลูบท้องในยามยากกันเข้าให้เสียแล้ว ตามเสียเพรียกเตือน

โดยมีคำเตือนจากสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ในรายงานเกี่ยวกับน้ำฉบับล่าสุด ซึ่งเผยแพร่ในช่วง “วันน้ำโลก (World Day for Water)” ที่มีขึ้นไปเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์น้ำไว้ ในฐานะที่เป็นปัจจัยหลักในการหล่อเลี้ยงมนุษยชาติ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลกใบนี้

“ธีม (Theme)” อันเป็นหัวข้อสำคัญของงานวันน้ำโลกในปีนี้ ซึ่งจะถูกใช้เป็นหัวใจหลักในการรณรงค์เรื่องน้ำทั่วโลก ประจำปี 2024 (พ.ศ. 2567) ก็คือ “น้ำเพื่อสันติภาพ (Water for Peace)”

ทั้งนี้ ก็ด้วยยูเอ็นเล็งเห็นว่า ประชาคมโลกเราจะทะเลาะขัดแย้งกัน ก็เพราะน้ำนี่แหละ อันสืบเนื่องมาจากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการบริโภคใช้สอย

โดยสถานการณ์ได้เริ่มส่อเค้า ส่งสัญญาณ มาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากวิกฤติปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือภาวะโลกร้อน ที่คุกคามสภาพอากาศของโลกเราจนแปรปรวน “ร้อน” และ “แล้ง” อย่างหนัก ส่งผลให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือตกลงมาก็น้อยมาก จนโลกเรามีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการบริโภคอุปโภค

ในรายงานของสหประชาชาติ เปิดเผยการประมาณการเป็นตัวเลขของประชาคมโลกที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในปีนี้ด้วยว่า 2,200 ล้านคนของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังขาดแคลน “น้ำดื่ม” ที่สะอาด คือ ดื่มแล้วไม่ก่อโรคร้าย เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เรา

ทั้งนี้ จำนวน 2,200 ล้านคนนั้น เทียบสัดส่วนก็คิดเป็นราว 1 ใน 4 ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 8,100 ล้านคน สำหรับตัวเลขกลมๆ เลยทีเดียว

นอกจาก “น้ำดื่ม” ที่ขาดแคลนแล้ว ในรายงานของสหประชาชาติ ยังระบุด้วยว่า น้ำที่จะใช้สำหรับการชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆ เพื่อสุขอนามัย ก็จะไม่เพียงพอต่อการใช้สอยของมนุษย์เราด้วยเช่นกัน

โดยมีตัวเลขการประมาณการของยูเอ็นด้วยว่า ประชากรโลกจำนวน 3,500 ล้านคนกำลังเผชิญปัญหากับปริมาณน้ำมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการชำระล้างเพื่อสุขอนามัยดังกล่าว

พร้อมกันนี้ ทาง “องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเนสโก” ได้ระบุถึงกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง และสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อได้รับน้ำในปริมาณไม่เพียงพอต่อการบริโภคใช้สอยข้างต้น ก็ได้แก่ เด็ก และสตรี นั่นเอง ที่จะตกเป็นเหยื่อเป็นกลุ่มแรกๆ

Photo : AFP

โดยทาง “ยูเนสโก” ยังระบุจำเพาะเจาะจงเป็นพื้นที่มาด้วยว่า เด็กและสตรีในพื้นที่ชนบท มีความสุ่มเสี่ยงมากและเปราะบางมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ

องค์การด้านการศึกษาของสหประชาชาติแห่งนี้ ยังระบุเตือนด้วยความเป็นห่วงอีกว่า เด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงในพื้นที่ชนบทห่างไกลจำนวนไม่น้อย ต้องทำหน้าที่นำน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ห่างจากที่พักอาศัย มาใช้สอย บริโภค อุปโภค ในบ้านเรือนของตน และหลายรายก็ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะนำน้ำมายังบ้านเรือนที่พักอาศัยของตนอย่างเพียงพอแก่ผู้คนในบ้าน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุปัจจัยให้เด็กผู้หญิงที่ผจญชะตากรรมในลักษณะอย่างนี้ ต้องออกจากโรงเรียนไป ซึ่งมีทั้งออกไปแบบชั่วคราว และออกไปแบบถาวร ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สำหรับ ชะตากรรมที่ซ้ำเติมพวกเธอเหล่านี้

แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น ก็คือ ในบางพื้นที่แต่ละชุมชนได้ทะเลาะขัดแย้งเพื่อการแย่งน้ำกันขึ้น และหลายกรณีก็ถึงขั้นก่อเหตุความรุนแรง ประหัตถ์ประหารกันเพื่อแย่งน้ำ จนบานปลายกลายเป็นความตึงเครียดในทางภูมิรัฐศาสตรขึ้นมา ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อเด็กและสตรี ในพื้นที่

Photo : AFP

พร้อมกับยกตัวอย่างกรณีในประเทศโซมาเลีย ที่ประชาชนถึงขั้นจับอาวุธต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงน้ำ และแหล่งน้ำกัน ถึงขนาดเกิดการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่กันเลยก็มี เพราะไม่สามารถอาศัยในพื้นที่เดิมได้ เนื่องจากทนไม่ไหวกับการสู้รบ ที่เปรียบเสมือนเป็นสงครามย่อยๆ เพื่อแย่งชิงพื้นที่แหล่งน้ำ

ทั้งนี้ รายงานของยูเอ็น ยังได้ประมาณการเป็นตัวเลขของสถานการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในโซมาเลียว่า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 200 หรือ 200 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสาเหตุปัจจัยหนึ่งมาจากการเปิดศึกแย่งชิงพื้นที่แหล่งน้ำดังกล่าวจนเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานกันขึ้นเพื่อหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อบริโภคใช้สอย

รายงานของยูเอ็น ระบุว่า การหาแหล่งน้ำใหม่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้คนอพยพโยกย้ายถิ่นฐานกันขึ้น โดยมีตัวเลขถึงร้อยละ 10 หรือ 1 ใน 10 เลยทีเดียว ที่ย้ายถิ่นฐานเพราะแหล่งที่อาศัยเดิม มีน้ำไม่เพียงพอต่อการบริโภค อุปโภค

นอกจากนี้ ทาง “ยูเนสโก” ยังระบุถึง “พิษภัยของสงครามการสู้รบ” ว่า เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนถูกขัดขวางการเข้าถึงน้ำที่สะอาด และมีปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภค อุปโภค นอกเหนือจากเหตุปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง จนส่งผลให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการบริโภคใช้สอยกันแล้ว

โดยยกตัวอย่าง “สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส” ในฉนวนกาซา ซึ่งปะทุลุกเป็นไฟการสู้รบกันขึ้น ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา ผลปรากฏว่า ประชาชนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงน้ำที่สะอาด ที่จะใช้สำหรับอุปโภค บริโภค อย่างเพียงพอจนน่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ ในกรณีของสถานการณ์ในฉนวนกาซานั้น ทางสหประชาชาติก็ยังวิตกกังวลด้วยว่า มิใช่แต่เฉพาะแต่เด็กและสตรี ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่จะขาดแคลนน้ำ ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว แม้แต่กระทั่งในการแพทย์ พยาบาล ที่จำต้องมีน้ำสะอาด สำหรับเป็นกระบวนการในรักษาผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บ จากพิษภัยของสงครามข้างต้น ก็จะประสบปัญหาด้วยเหมือนกัน