วันที่ 26 มี.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก @Panitan Wattanayagorn ระบุว่า...
"ลัทธิปูตินตลอดกาล" กับการก่อการร้ายในรัสเซีย/Can "Putin Forever" save Russia?
1. การก่อการร้ายที่ Crocus City Hall ใกล้ๆ กับกรุง Moscow เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิตไปแล้ว 137 คน บาดเจ็บอีกนับร้อย และคาดกันว่าผู้บาดเจ็บสาหัสอีกหลายรายอาจจะเสียชีวิตเพิ่มขึ้น สหประชาชาติประณามว่าเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย (heinous) และขี้ขลาด (cowardly) และเลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้นานาชาติเพิ่มความร่วมมือกันให้มากขึ้นในการต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะต่อกลุ่ม ISIS ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้รับผิดชอบในครั้งนี้
แต่การก่อการร้ายเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องที่ชาวรัสเซียไม่คุ้นเคย ที่น่าเป็นห่วงก็คือ คงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะเห็นเหตุการณ์อันน่าเสียใจและเศร้าสลดแบบนี้ที่มีพลเรือนจำนวนมากเสียชีวิตในคราวเดียวกันและพร้อมๆ กัน
2. การก่อการร้ายในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบยี่สิบปีในรัสเซียแล้ว (ครั้งที่รุนแรงที่สุดก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2547 มีคนตาย 334 คน จากการที่ผู้ก่อการร้ายกลุ่ม Riyard-us Saliheen ที่มาจาก แคว้น Chechnya บุกเข้าไปจับตัวประกันนับพันคนที่โรงเรียน Beslan ทางตอนเหนือของรัสเซีย ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตกว่าสามร้อยคนนั้น เป็นเด็กนักเรียนถึง 186 คน) เหตุการณ์ที่เวทีคอนเสิร์ตในครั้งนี้ ยังเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่นับได้ว่าเป็นสงครามที่ใหญ่ที่สุด
ในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจและพันธมิตรของแต่ละฝ่ายที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค ดังนั้น จึงทำให้ความซับซ้อนและตึงเครียดของสถานการณ์ความมั่นคงของโลกเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
3. ทางการรัสเซียได้แถลงว่าสามารถจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องได้แล้ว 11 คนซึ่งพยายามหลบหนีข้ามแดนไปยูเครน (ทางการยูเครนได้ปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและเห็นว่าการกล่าวหาแบบนี้ "ไร้สาระ") ซึ่งในกลุ่มผู้ที่ถูกจับกุมได้นี้ ฝ่ายความมั่นคงรัสเซียระบุว่ามีสี่คน (มาจากทาจิกิสถาน ถูกนำตัวขึ้นศาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และสามคนได้รับสารภาพ อีกหนึ่งคนไม่สามารถสื่อสารได้) เป็นผู้ลงมือกราดยิงและสังหารคนที่เข้าชมการแสดงของวงดนตรี Picnic ใน Consert Hall (ศาลากลาง Crocus ที่สร้างโดยมหาเศรษฐีชาว Azerbaijan ในปี 2552 และ Donald Trump เคยมาจัดประกวด Miss Universe ในปี 2556 นี้ มีทั้งหอประชุมใหญ่ที่จุคนได้ถึง 7,000 คน โรงละครที่จุคนได้ 2,000 คน และเวทีแสดงคอนเสิร์ตที่เกิดเหตุ ซึ่งจุคนได้กว่า 4,000 คน)
4. หลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน ISIS-K (Khorasan) หรือ ISIS-KP ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบ ทางการสหรัฐฯ ก็ได้ให้ข่าวว่าได้แจ้งเตือนไปทางรัสเซียและคนอเมริกันในรัสเซียล่วงหน้าแล้วว่าให้ระวังถ้าจะไปในที่ชุมนุมสาธารณะ เพราะจับความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวได้ว่าจะก่อการร้ายขึ้น
แต่ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูตินก็ได้ออกมาโต้ตอบว่าเป็นการให้ท้ายกลุ่มดังกล่าว (บางฝ่ายเชื่อว่าในอดีต สหรัฐฯ เคยมีความสัมพันธ์กับกลุ่ม ISIS และเคยสนับสนุนในบางรูปแบบ) และเป็นการ black mail ข่มขู่รัสเซีย ซึ่งความจริงทางฝ่ายข่าวของรัสเซียก็น่าจะทราบความเคลื่อนไหวดังกล่าวเหมือนกันเพราะในเดือนมีนาคมนี้ ทางฝ่ายความมั่นคงของรัสเซียได้ปฎิบัติการยับยั้งการก่อการร้ายของกลุ่ม ISIS-K ในรัสเซียได้หลายครั้ง
การเติบใหญ่หรือกลับมาใหม่ของกลุ่ม ISIS หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ว่ากลุ่ม ISIS จะมีกำลังลดลงเหลืออยู่ประมาณ 6,000-10,000 คน แต่ก็มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ISIS-K สามารถโจมตีเป้าหมายในรัสเซียและในประเทอื่นๆ ได้หลายครั้ง ทั้งๆ ที่มีการเฝ้าระวัง เช่น เมื่อปี 2565 ได้โจมตีสถานทูตรัสเซียที่กรุง Kabul ในอัฟกานิสถาน หรือก่อนหน้านั้นในปี 2560 ได้โจมตีขนส่งมวลชนในกรุง St. Petersburg มีคนตาย 15 คน และบาดเจ็บอีกเกือบ 50 คน
5. การเคลื่อนไหวและตอบโต้ของรัสเซียและของประธานาธิบดีปูตินในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นสิ่งน่าสนใจที่สุดในความเห็นของนักวิเคราะห์หลายคน ไม่ใช่เรื่องที่ว่ากลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ หรือใครเป็นคนลงมือทำที่แท้จริง
ความน่าสนใจจริงๆ จะอยู่ที่ว่ารัสเซียและประธานาธิบดีปูตินเลือกโต้ตอบหรือจัดการกับใครและอย่างไรมากกว่า
ที่ผ่านมารัสเซียจัดการกับกลุ่มที่ทำแบบนี้อย่างรุนแรงและเฉียบขาดเช่น ไม่ยอมต่อรอง ใช้หน่วยรบพิเศษและอาวุธหนักเข้าโจมตีเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งก็ทำให้ตัวประกันจำนวนมากเสียชีวิต หรือหลังจากเหตุการณ์จบลง ก็จะกวาดล้างกลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นและรุนแรง อีกทั้งก็ยังมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ประธานาธิบดี หรือให้กับฝ่ายบริหาร ให้กับหน่วยงานความมั่นคงต่างๆเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ในครั้งนี้ แนวทางการโต้ตอบก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกันกับในอดีต แต่ท่าทีของประธานาธิบดีปูตินนั้นน่าสนใจกว่า ซึ่งในตอนแรกได้ปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไปหลายชั่วโมง มีแต่เพียงข้อความให้กำลังใจผู้ที่บาดเจ็บที่ฝากผ่านมากับผู้ช่วยของตนเท่านั้น แต่ภายหลังก็ได้ออกโทรทัศน์ประกาศให้วันอาทิตย์ที่ 24 เป็นวันไว้อาลัยของชาติ ประณามการกระทำดังกล่าวว่าเป็น "การก่อการร้ายโจมตีที่ป่าเถื่อน" (barbaric terrorist attack) และที่สำคัญคือได้ตอกย้ำและพาดพิงเรื่องนี้กับยูเครน เหมือนกับที่หน่วยงานความมั่นคงของรัสเซียได้ระบุไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว แต่เพิ่มเติมว่าได้มีการเตรียมการรองรับการหลบหนีของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในฝั่งของยูเครนไว้แล้ว และแม้ว่าประธานาธิบดีปูตินจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำตัวคนที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ แต่ก็ไม่ได้ระบุถึงกลุ่ม ISIS-K แม้แต่น้อย
6. นักวิเคราะห์หลายคนคิดว่า เป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีปูติน ยังไม่อยากเปิดศึกใหม่กับ ISIS-K ในขณะนี้ หรือเข้าสู่สมรภูมิกับกลุ่ม ISIS ที่มีแนวร่วมหัวรุนแรงอยู่ในหลายประเทศ แต่ต้องการพุ่งเป้าไปที่ยูเครน ยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ ที่สนับสนุนสงครามในยูเครนอยู่ โดยประธานาธิบดีปูตินคงคิดว่าตนเองกำลังเริ่มได้เปรียบในหลายด้านอยู่ ทั้งจากการคว่ำบาตรของสหรัฐกับพันธมิตรของชาติตะวันตกที่ไม่ค่อยได้ผล ทั้งจากการรบภาคพื้นดินในยูเครน ที่รัสเซียสามารถรุกคืบเข้าไปได้มากขึ้น และทั้งจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ที่ตนเพิ่งชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ (โดยแทบไม่มีใครมีโอกาสแข่งขัน) ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อหล่อเลี้ยงและกระตุ้นการสนับสนุนของชาวรัสเซียต่อสงครามกับยูเครน ซึ่งมีท่าทีว่าจะยุ่งยาก ยืดเยื้อ และยาวนาน อีกทั้งยังเชื่อกันว่าประธานาธิบดีปูตินอาจจะต้องการกลบเกลื่อนสิ่งที่ตนเองหรือที่ทหารรัสเซียทำผิดพลาดไว้หลายประการในสงครามครั้งนี้
7. ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน เพิ่งจะชนะเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 88% ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในยุคสมัยใหม่ของรัสเซียหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโซเวียตในปี 2534 โดยมีผู้ออกมาลงคะแนนเลือกตั้ง 74% สูงกว่าครั้งที่แล้วในปี 2561 ที่มีคนออกมาลงคะแนน 68%
ที่สำคัญ หากประธานาธิบดีปูติน ซึ่งปัจจุบันอายุ 71 ปี ดำรงตำแหน่งครบ 6 ปีในรอบนี้ (ขยายจากเดิมครั้งละ 4 ปี และยังมีสิทธิลงสมัครได้อีกเพราะมีการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว) ก็จะเป็นผู้นำรัสเซียที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในรอบ 200 ปี มากกว่าโจเซฟ สตาลิน (2467-2496) ที่นับว่าปกครองรัสเซียได้ยาวนานที่สุด
การที่ผู้นำหลายคนของรัสเซียปกครองประเทศมายาวนาน ทำให้เกิดลัทธิของผู้นำที่แอบอิงกับโครงสร้างของจักรวรรดิโซเวียต ซึ่งเป็นรัฐที่มีระบบการเมืองแบบปิดหรือกึ่งปิดที่มีความเข้มข้นด้านอำนาจทางการทหารและความมั่นคงเป็นพื้นฐาน
เมื่ออาศัยความเข้มแข็งของผู้นำในเชิงเอกลักษณ์ผสมกับระบอบอำนาจนิยมเชิงโครงสร้างในการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงแล้ว การจัดการแบบเด็ดขาดกับบริวารต่างๆ หรือกับกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ เช่น กรณีแคว้น Chechnya ที่ปัจจุบันมีเสถียรภาพดีขึ้นมากแล้ว ก็ต้องผ่านสงครามหรือใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความสูญเสียมากมาย รวมทั้งกรณีการผนวกไครเมียเมื่อหลายปีก่อน หรือกรณีสงครามกับยูเครนในปัจจุบัน ต่างก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความสูญเสียดังกล่าวในการสร้างความมั่นคงให้กับรัสเซียได้
การที่มีผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าประธานาธิบดีปูติน ซึ่งครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 24 ปีแล้ว ได้สร้างระบอบ "ปูตินตลอดกาล" (Putin Forever) ขึ้นมานั้น ในความจริงคือระบอบที่อยู่บนพื้นฐานเดิมของจักรวรรดิโซเวียตนั่นเอง และถึงแม้ว่าหากจะไม่มีประธานาธิบดีปูตินเมื่อไรก็ตาม ระบอบที่มีก็คงจะทำงานแบบเดิมต่อไปเป็นส่วนใหญ่ ซ้ำร้ายหากมีการแย่งชิงอำนาจกันเพื่อเข้ามาปกครองประเทศ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในรัสเซีย สถานการณ์ของยุโรปก็อาจจะไม่ดีไปกว่าทุกวันนี้สักเท่าไร
8. ประเทศไทยกับสาธารณรัฐรัสเซีย มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกันมายาวนานถึงเกือบ 127 ปี มีการเยี่ยมเยือนของผู้นำในระดับต่างๆ เป็นระยะๆ แต่ไม่ได้มีความใกล้ชิดทางการเมืองหรือเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในด้านพลังงาน ซึ่งหลายประเทศได้ประโยชน์จากการซื้อพลังงานราคาถูกจากรัสเซียในช่วงสภาวะสงครามในปัจจุบัน (รัสเซียเป็นคู่ค้าลำดับที่สามสิบกว่าของไทย มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ ประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท และเคยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10-40% ก่อนโควิดและสงครามกับยูเครน แต่ปัจจุบันลดลงมาก และยังไม่มีแนวโน้มที่ดีเหมือนเดิม) ยกเวันด้านนักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่งเดินทางเข้ามาไทยมากขึ้นถึงกว่า 1.5 ล้านคนในปีที่แล้ว
การที่รัฐบาลไทยในปัจจุบัน ขยายเวลาพำนักให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียให้อยู่ในประเทศได้นานขึ้นจาก 30 วันเป็น 90 วันในปีที่ผ่านมา ผสมกับปัจจัยเรื่องสงคราม สภาพอากาศ ค่าครองชีพ และการสนับสนุนของภาคเอกชน ก็มีส่วนให้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียเพิ่มขึ้นถึง 7% หรือกว่า 100% ที่ภูเก็ตเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนโควิด ซึ่งก็ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับผลดีหลายประการ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่นักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางเข้ามามากขึ้น คดีความต่างๆ ก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะความขัดแย้งกับธุรกิจท้องถิ่นและการทำผิดกฎหมายของไทยในเรื่องต่างๆ
และที่สำคัญ ยิ่งเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายต่อชาวรัสเซียอย่างเช่นในกรณีล่าสุดที่เวทีคอนเสิร์ตดังกล่าวแล้ว ก็จะประมาทไม่ได้ว่าจะไม่มีการทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียหรือผลประโยชน์อื่นๆ ของรัสเซียในประเทศอื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย
(ราบละเอียดอื่นๆ กรุณาชมในคลิปข่าวของสถานีโทรทัศน์ ททบ.5 ที่: https://youtu.be/uOSV1s-4SkU และในรายการวิทยุครบเครื่องเรื่องข่าวของอสมท. FM 100.5 ที่: https://www.facebook.com/share/v/qs9KKqUNz2yenkLx/?mibextid=oFDknk ครับ)
#ปณิธานวัฒนายากร #รัสเซีย #ปูติน #มอสโก #ยูเครน #ข่าววันนี้