นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงโครงการเดินสบาย ปั่นปลอดภัยว่า โครงการนี้ กทม.ร่วมกับมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เพื่อพัฒนาทางเท้าและทางจักรยานในจุดที่มีทางเท้าแคบ และไม่สามารถก่อสร้างทางเท้าใหม่ได้ จึงใช้วิธีลดขนาดช่องจราจรลง และขีดสีตีเส้นกำหนดทางเท้าชั่วคราว เพื่อเพิ่มทางเลือกในการสัญจรแก่ประชาชน โดยเริ่มนำร่องแล้ว 7 เส้นทาง ได้แก่ ถนนตะนาว ถนนดินสอ ถนนมหรรณพ ถนนบำรุงเมือง ซอยสำราญราษฎร์ ถนนราชบพิตร ถนนเฟื่องนคร

 

จากการปรับปรุงด้านกายภาพดังกล่าว พบปัญหาส่วนใหญ่คือ รถจอดไม่เป็นระเบียบ ทางเท้าแคบ จึงมีการขีดเส้นกำหนดช่องจอดรถ เพื่อให้ผู้จอดรถทราบจุดจอดที่ชัดเจน เนื่องจากหลายย่านยังจำเป็นต้องมีจุดจอดรถริมถนน และต้องมีการสัญจรทางเท้าควบคู่ไปด้วย เช่น ถนนมหรรณพ แหล่งพานิชยกรรม มีร้านอาหารจำนวนมาก หรือถนนราชบพิตร เป็นย่านที่มีโรงเรียนและตลาดตรอกหม้อ มักมีการตั้งสิ่งกีดขวางทางเท้า จึงต้องมีการตีเส้นกำหนดจุดจอดและทางเท้าเพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากมีนักเรียนและประชาชนเดินเท้าจำนวนมาก รวมถึงมีการกำหนดจุดห้ามจอด เช่น ช่วงถนนราชบพิตรเข้าถนนเฟื่องนคร มีบางช่วงเป็นถนนแคบ ไม่มีทางเดินเท้า กทม.จึงยกเลิกจุดจอดเดิม เพื่อใช้เป็นทางเท้าทดแทน

 

นอกจากนี้ ยังมีถนนบำรุงเมือง จากแยกสี่กั๊กเสาชิงช้าถึงแยกเสาชิงช้า แต่เดิมมี 3 ช่องจราจร ไม่มีทางเท้า ประชาชนต้องใช้พื้นผิวจราจรในการเดินเท้า เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ปัจจุบันได้ลดลงเหลือ 2 ช่องจราจร ตั้งแต่แยกสี่กั๊กถึงทางเข้าตลาดตรอกหม้อ เพื่อขยายไหล่ทางเป็นพื้นที่ทางเท้า โดยการตีเส้นแบ่งช่องทางเดิน รวมถึงบริเวณถนนดินสอหน้าศาลาว่าการกทม. มีการนำรั้วราวเหล็กกั้นที่จอดรถออก แล้วติดตั้งเสาเอสการ์ดทดแทน เพื่อใช้เป็นทางเท้าเชื่อมระหว่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงถนนหน้าลานคนเมือง

 

นายศานนท์ กล่าวว่า การปรับปรุงดังกล่าว เน้นการลดขนาดช่องจราจรให้เล็กลง เพิ่มไหล่ทาง (Curb extension) บริเวณแยกเพื่อให้รถเลี้ยวช้าลง จุดประสงค์เพื่อสร้างความปลอดภัยให้คนเดินเท้าและปั่นจักรยาน สนับสนุนให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และเพิ่มทางเลือกในการสัญจรมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะมีการขยายย่านอื่น ๆ ต่อไป