“เสรี”ชำแหละรัฐบาล ไม่จริงใจ ไม่ให้ความสำคัญการอภิปรายฯ เคาะวันล่าช้านายสองเดือน จี้แก้ระเบียบให้คนไม่ติดคุก เรียกร้องให้เลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ด้าน“นายกฯ” บอกไม่น้อยเนื้อต่ำใจถูกอภิปราย ยันเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งเพราะจำเป็น แก้ฝุ่นลดลงแล้ว 30% ปัดดื่มไวน์ตอนลงพื้นที่เชียงใหม่ เผย”ดิจิทัลวอลเล็ต” คลัง เตรียมแจงไทม์ไลน์ที่เป็นรูปธรรม
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 25 มี.ค.67 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง ของวุฒิสภา อภิปรายเปิดญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 โดย นายเสรี กล่าวถึงรัฐบาลว่า ไม่ให้ความสำคัญกับการอภิปราย เนื่องจากหลังจากยื่นญัตติจะต้องรีบเปิดประชุม เพื่อรับฟังวุฒิสภา แต่ใช้เวลา 2 เดือน กว่าจะกำหนดเวลาให้เพียง 1 วันเท่านั้น
นายเสรี กล่าวว่า ทำให้เห็นว่าความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ มีมากน้อยแค่ไหน แต่รัฐบาลกลับนับเวลาไปใช้อย่างอื่น เช่น เดินทางไปต่างประเทศหลายประเทศ และยังเดินทางไป จ.เชียงใหม่ กินอาหารกินไวน์ ทั้งที่ฝุ่นเต็ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือว่าไม่ให้ความสำคัญกับการรับฟังปัญหา ในการบริหารราชการแผ่นดิน และการอภิปรายครั้งนี้ ถูกพูดถึงว่า เป็นการซักฟอกรัฐบาล เป็นการล้มรัฐบาล เป็นการที่ทำให้รัฐบาลเสียหาย ความคิดเหล่านี้เป็นความคิดที่ผิด จึงทำให้ในทางการเมืองไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะยื่นขอเปิดอภิปราย เพราะเกรงว่า จะกระทบต่อพวกตัวเองกับคนมีอำนาจ ทำให้กันทำงานในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ยาก
นายเสรีกล่าวต่อว่า แม้กระทั่งในวุฒิสภา ก็ต้องยอมรับว่า กว่าจะได้สมาชิกลงชื่อ 90 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย ฝ่ายรัฐบาลก็พยายามออกมาพูดว่า ลงชื่อไม่ครบ ลงชื่อแล้วไม่มีใครอภิปราย กลายเป็นยาหม้อดำที่ไม่อยากให้พูดถึง เพราะฉะนั้นสิ่งที่วุฒิสภาชุดนี้ และมีสมาชิกลงชื่อเกินกว่า 1 ใน 3 ตามรัฐธรรมนูญ เสนอญัตติเพื่อขอให้ ครม. มาพูดคุยในสภา เพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ไม่ได้มีเจตนา ไม่มีอคติ ไม่มีการพูดก่อให้เกิดความเสียหาย หากรัฐบาลคิดได้ดังนี้การขอเปิดอภิปรายทั่วไปก็จะทำอย่างรวดเร็ว
นายเสรี ยังตั้งคำถามถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลว่า 1.รายงานของกรรมาธิการในวุฒิสภา ที่ได้ส่งไปยังรัฐบาล ได้พิจารณาและให้ความสำคัญต่อรายงานมากน้อยแค่ไหน 2.การขอเปิดอภิปรายกำหนดประเด็น ซึ่งประเด็นการอภิปรายประเด็นแรกเรื่องเศรษฐกิจ ที่สมาชิกจะเสนอแนะให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งการบริหารประเทศผ่านมาแล้ว 7 เดือน รัฐบาลยังไม่สามารถทำอะไรที่เป็นรูปธรรม ซึ่งแม้รัฐบาลจะยังไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่การบริหารประเทศก็ไม่ได้หยุด
ส่วนการจ่ายเงินดิจิทัล ก็เห็นว่า อาจจะมีปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย และมีองค์กรทักท้วง โดยเฉพาะเงินที่จะก่อหนี้มากถึง 5 แสนล้านบาท พร้อมแนะทำโรงทานดีกว่าแจกเงิน และยังอภิปรายถึงการเดินทางไปต่างประเทศว่า มีลักษณะคล้ายเซลล์แมน ซึ่งนายกฯ จะต้องไปในฐานะ CEO ส่วนการทำหน้าที่เซลล์แมน ควรจะเป็นหน้าที่ของ รมว.พาณิชย์ ซึ่งผลประโยชน์ที่ออกมาไม่ได้เต็มที่ โดยไม่ได้ดูถูกเซลล์แมน
ประเด็นที่สอง เรื่องกระบวนการยุติธรรม พบว่า มีแต่การแถลงข่าว ยังไม่มีเรื่องใดเป็นรูปธรรม เช่นการแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล และระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องสร้างมาตรฐาน ให้ประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมาย ที่เป็นธรรม แต่ปรากฏว่า ผลงานของรัฐบาลที่ดีเด่น มีความชัดเจนเห็นว่า มีเพียงเรื่องเดียว คือการช่วยคนทำผิดและไม่ต้องรับโทษ จึงขอทักท้วงว่าเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมในประเทศ และประชาชนเดือดร้อนจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ให้หน่วยงานกรมราชทัณฑ์ ออกระเบียบหลายฉบับ เอื้อต่อการที่จะช่วยให้คนไม่ต้องรับโทษ แม้กระทั่งศาลมีคำพิพากษามาแล้ว แต่กรมราชทัณฑ์เองกับกลายเป็นออกกฎหมายออกระเบียบเอื้อประโยชน์ต่อบางคน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย อันนี้โดดเด่นเป็นผลงานของรัฐบาล เป็นผลงานของท่านนายกฯ แต่กระบวนการยุติธรรมเสียหาย เราเข้าใจใคร ๆ ก็ไม่อยากติดคุก แต่เราต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรมและถูกต้อง
นายเสรียังหยิบยกปัญหาบ่อนการพนันหรือการเปิดสถานบันเทิง การตั้งด่านตรวจ ที่ตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของตำรวจ รวมถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่รัฐบาลจะต้องยืนยันพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลว่า เป็นของไทย
รวมถึงปัญหาการต่างประเทศการท่องเที่ยว การศึกษา สังคม การแก้รัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้ยินมาว่า รัฐบาลจะยกเลิก ก่อนจะแนะว่ารัฐบาลควรที่จะปรับปรุงมากกว่ายกเลิก
พร้อมกล่าวช่วงท้ายว่า คาดหวังรัฐบาลอยู่จนครบวาระ 4 ปี เพราะการที่จะหาคนที่บริหารประเทศหายาก โดยเฉพาะคุณสมบัติที่ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ฝ่ายค้านมีก็เห็นว่า เดินหน้าแต่เรื่องล้มล้างการปกครองฯ ซึ่งตามที่เปิดประเด็นมานี้คาดหวังให้รัฐบาลได้ชี้แจง เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวชี้แจงว่า ตนเองยินดีมาตอบ สว. ด้วยความเต็มใจ ไม่ขอเปรียบเทียบ 8-9 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่เคยมีการอภิปรายรัฐบาล แต่ก็ไม่เคยน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเป็นหน้าที่มาตอบ โดยในเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งนั้น เป็นเพราะมีความจำเป็น เช่น การประชุมอาเซียน-ออสเตรเลีย และยังเป็นขนบธรรมเนียมของผู้นำใหม่ที่ต้องเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้าน โดยตนเองรับทราบถึงข้อกังวลนี้ แต่ปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีในการติดต่องานกับรัฐมนตรี โดยไม่ต้องมาเจอกันแบบตัวต่อตัว
ส่วนเรื่องแก้ปัญหาฝุ่น ถึงแม้จะยังมีอยู่ แต่ก็ลดน้อยลงไป 30% ในแต่ละพื้นที่แล้ว และการลงพื้นที่เชียงใหม่ครั้งล่าสุดเพื่อไปเตรียมงาน ก่อนการประชุม ครม.สัญจร ยืนยันว่าวันนั้นไม่ได้ดื่มไวน์ เพราะไม่สบาย
นายกฯ ยังกล่าวอีกว่า ไม่ได้เป็นข้อแก้ตัว หรือข้ออ้าง โดยเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ ยืนยันว่า นโยบายวีซ่าฟรี การพักหนี้ การเปิดตลาดใหม่ๆ ก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ล่าสุดยางพาราก็มีราคาที่สูงขึ้น ส่วนเรื่องการลงทุนกับต่างประเทศ รัฐบาลก่อนที่ทำมาดี เราก็ทำต่อ ไม่ได้ปัดตกทุกเรื่อง ขณะที่เรื่องการลงทุน ทีมงานก็ไปติดต่อเอานักลงทุนต่างชาติมาลงทุน โดยผู้แทนการค้ากับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะแถลงพรุ่งนี้ตอน 09.30 น. ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญ แม้งบประมาณ 67 จะยังไม่ได้ออกมาก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ใช้เป็นข้ออ้าง
ส่วนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรับฟังทุกภาคส่วน โดย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังจะแถลงไทม์ไลน์ที่เรารับฟังมา ที่จะได้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น สำหรับเรื่องหนี้นอกระบบ นายกฯ ยอมรับว่า ที่ สว.มองว่ายังไม่จบ เป็นเรื่องที่เห็นด้วย แต่ได้กำชับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ให้ลงพื้นที่ไปเรียกร้องประชาชนมาแจ้งหนี้นอกระบบแล้ว ไม่ใช่รอคอยอย่างเดียว โดยตนเองทราบดีเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ไ่ม่เป็นธรรม ซึ่งที่รัฐบาลเข้ามาต้องการจัดการเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมจริงๆ ยืนยันมีความคืบหน้า และอย่างน้อย 7 เดือนที่ผ่านมามีความคืบหน้าในการจัดการ พร้อมระบุทิ้งท้ายว่า รัฐมนตรีคนอื่นๆ ยืนยันว่าก็พร้อมมาชี้แจงข้อสงสัยของ สว.เช่นเดียวกัน
วันเดียวกัน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงความคืบหน้าโครงการ เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ไทม์ไลน์ที่จะแจ้งมีความชัดเจนขึ้นทุกวัน ช่วงเริ่มโครงการจะชัดเจน วันที่ 27 มี.ค.นี้ จะนัดหมายประชุมคณะกรรมการนโยบายเติม เงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวิตเล็ตชุดใหญ่ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อที่คณะกรรมการสอบหาความจริงจะไปรายงานเรื่องของความคืบหน้ารวมถึงสิ่งที่มีส่วนงานหรือองค์กรต่างๆได้ตอบคำถามมาแล้ว หลังจากส่งคำถามไปไม่น้อยกว่าร้อยส่วนงาน ไม่ว่าจะภาควิชาการภาคประชาชนกลุ่มหอการค้ากลุ่มสภาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้ส่งคำตอบกลับมาเกือบครบถ้วน แต่ยังเปิดรับฟังให้ถึง 29 มี.ค.ก่อนจะสรุปรายละเอียดอีกครั้ง
ส่วนวันที่ 27 มี.ค. จะมีการประชุมรายงานความคืบหน้าต่างๆ และนำรายงานขอเสนอแนะของป.ป.ช. เป็นรายงานเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อจะให้ที่ประชุมรับทราบ แล้วจะมอบหมายนำเสนอโดยกระทรวงการคลังในเรื่องของ ปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆเพื่อจะหากลไกในการเดินหน้าตัวนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวิลเล็ต ให้คณะกรรมการได้รับทราบ หลัง 27 มี.ค. เมื่อมีการประชุมแล้วคงจะมีการมอบหมายให้แต่ละส่วนงานไปดำเนินการในรายละเอียด ในเรื่องของกรอบต่างๆที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงอนุกรรมการขับเคลื่อนที่ตนเป็นประธานด้วยต้องมาประชุมกัน และสรุปเพื่อนำส่งคณะกรรมการอีกครั้ง การนัดประชุมกรรมการชุดใหญ่ครั้งต่อไปคือ 10 เม.ย. ซึ่งคณะกรรมการดิจิทัลฯชุดใหญ่จะสรุปเรื่องรายละเอียดโครงการทั้งหมด เงื่อนไขทั้งหมด เพื่อจะนำส่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและเดินหน้าโครงการ ซึ่งเชื่อว่าในช่วง ระยะเวลาไม่นานจะส่งเข้าสู่คณะรัฐมนตรีหลังจากนั้นวางกรอบการทำงานซึ่งได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะกรอบกฎหมายหรือตัวเงิน หรือกรอบด้านเทคนิค ระบบต่างๆ ที่กำหนดคร่าวๆเบื้องต้น หลังวันที่ 10 เม.ย.จะมีความชัดเจนที่จะชี้แจงต่อประชาชน คือหลังไตรมาส 3 ของปีนี้จะมีการลงทะเบียนร้านค้าและลงทะเบียนประชาชน ระบบค่อนข้างพร้อมแล้วในช่วงนั้น และในไตรมาส 4 ของปีนี้ก่อนสิ้นปีจะมีการ เติมเงิน 10,000 บาทผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ถึงมือประชาชนทุกคนที่อยู่ในกรอบในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 50 ล้านคน และใช้แอปเป๋าตังเหมือนเดิม