‘สว.คำนูณ’ เตือนสติ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ อย่าเลือกเดินตามแนว ‘เอ็มโอยูปี44’ ยุค “ทักษิณ” ส่อเกิด3ล็อค2เสี่ยงถูกลักไก่เสีย ‘เกาะกูด’ ให้กัมพูชา แนะทำไปพร้อมกัน คุยนำขุมทรัพย์ใต้ทะเลมาใช้-เจรจาเขตแดนตลอดแนว
เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2567 เมื่อเวลา 18.50 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(สว.) อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชา ตอนหนึ่งว่า ตนเป็นห่วง หลังจากฟังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไปกล่าวปาฐกถาเรื่องจุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน ขณะเปิดงาน Thailand energy exclusive forum แล้วระบุว่า เรื่องสำคัญที่สุดคือเรื่อง OCA เรื่องพื้นที่ทับซ้อนที่มีมูลค่ามหาศาล ขึ้นอยู่กับตัวเลขไหนจะพูดกัน หากมีค่าสูงกว่า20ล้านล้านบาท แต่เรามปัญาเรื่องชายแดน เขตแดน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขอแบ่งเป็น2ส่วน คือเรื่องพื้นที่ทับซ้อน และเรื่องขุมทรัพย์ที่อยู่ใต้ทะเล ที่ต้องมีการพูดคุย ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องนี้ ที่จะพยายามนำสินทรัพย์นี้ออกมาใช้โดยเร็ว ในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก Brown Energy เป็น Green Energy ขอให้สบายใจได้ว่าเราจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ โดยจะแยกแยะระหว่างปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับปัญหาเรื่องแบ่งผลประโยชน์ ที่ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ที่ตนเป็นห่วงคือเมื่อสว.ท้วงถามเรื่องนี้ นายกฯ มอบนายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ มาตอบชี้แจง โดยนายจักรพงษ์ ชี้แจงว่า จะไม่แบ่งการเจรจา โดยมี3ทางเลือก 1.ยึดตามเอ็มโอยู ปี2544 ที่แบ่งพื้นที่เป็น2ส่วน โดยลากเส้นต่อจากหลักมุดที่73 หรือจุดAลงมาในทะเลไหล่ทวีป โดยใช้เส้นละติจูดที่11องศาเหนือ แบ่งเขตแดนด้านบนและด้านล่าง พร้อมย้ำว่าจะเจรจาพร้อมกันทั้งด้านบนและด้ายล่างไม่อาจแบ่งแยกการเจรจาได้ 2.จะมีการแก้ไขเอ็มโอยูปี44เพิ่มเติม หรือจะทำเอ็มโอยู ปี2567ขึ้นใหม่ เพื่อแบ่งผลประโยชน์ของชาติโดยเร็ว โดยพักเรื่องเขตแดนไว้ก่อน และ3.เจรจาตกลงเรื่องเขตแดนสำเร็จตลอดแนวก่อนแบ่งผลประโยชน์ทางทะเล ทั้งนี้เมื่อวันที่1ก.ค.2515 รัฐบาลลอนนอล ยึดอำนาจล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์กัมพูชา และประกาศเส้นแบ่งเขตแดนไหล่ทวีปผ่าเกาะกูด จ.ตราด ของไทย กินแดนของเกาะไปครึ่งหนึ่ง ทั้งที่เกาะกูดเป็นของไทยกว่า150ปี ตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่5
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ต่อมาทางการไทยได้ตอบโต้ในปี2516 โดยออกพระบรมราชโองการวันที่18พ.ค.2516 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยึดตามอนุสัญญาเจนีวา ลากเส้นแบ่งเกาะกูดกลับมาเป็นของไทยเช่นเดิม โดยให้กองทัพเรือยึดรักษาเขตแดนนี้ และยกสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ข้อ2 วันที่23มี.ค.2450 กรณีรัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราด กับเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูดให้เป็นของสยาม และที่ผ่านมากัมพูชาไม่เคยโต้แย้งสิทธิ์เรื่องเหล่านี้มาก่อน ที่เป็นห่วงคือเมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเข้ามา และมีการทำเอ็มโอยูปี 2544 ก่อให้เกิด 3ล็อค2เสี่ยง 3ล็อค คือ1.ให้แบ่งเขตแดนเฉพาะส่วน 2.กำหนดพื้นที่ผลประโยชน์ไว้ตายตัวในส่วนที่ยังไม่ได้แบ่งดินแดน 3.ไม่อาจเจรจารูปแบบอื่นได้ ขณะที่2เสี่ยง คือ 1.เสียผลประโยชน์(ทันทีที่ตกลง) และ2.เสียเขตแดน(ทันทีที่ตกลงและในอนาคต)
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ข้อเสียคือไทยไม่มีประเด็นใดๆจะต้องเจรจาเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือเกาะกูด การไปยอมรับการมีอยู่ของเส้นแบ่งแนวเขตไหล่ทวีปของกัมพูชามาบันทึกลงในเอ็มโอยู ปี44 เป็นเพียงการนำข้อขัดแย้งมาบรรจุไว้เพื่อให้มีการเจรจา หรืออาจเข้าข่ายการยอมรับโดยปริยาย หรือเข้าลักษณะกฎหมายปิดปาก หากต้องเป็นความขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในอนาคต ดังนั้นถ้าไทยละทิ้งความได้เปรียบ เส้นแบ่งเขตแดนทั้งส่วนบนและส่วนล่างไป จะทำให้เราเสียเปรียบกัมพูชา อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร ตนเชื่อมั่นในความจงรักภักดี ในความเคารพต่อบรรพบุรุษ ว่าในการตัดสินใจ มี2กรณี 1.ต้องรับผิดชอบต่อบรรพบุรุษ ที่รักษาดินแดนไทยและส่งมอบมาถึงรุ่นเรา และ2.ต้องรับผิดชอบต่อลูกหลานว่าการตัดสินใจใดๆต้องเหลือมรดกไว้ให้ลูกหลาน
“ดังนั้นรัฐบาลจะเลือกเดินตามแนวทางตามเอ็มโอยูปี44 หรือไม่ หรือรัฐบาลจะมีแนวทางใหม่ที่จะเลือกเดิน โดยเอาขุมทรัพย์ใต้ทะเลขึ้นมาใช้ก่อน และไม่พูดเรื่องเขตแดนไปพร้อมกัน ผมไม่เห็นด้วย ผมเห็นว่าจะต้องทำไปพร้อมกัน และเราต้องเจรจาเขตแดนตลอดแนวของทั้ง2ประเทศ” นายคำนูณ กล่าว