เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 มี.ค. อาคารคุณวิสาร โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ต. นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต. ภัทรภณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผบก.อก. และ พ.ต.อ.วิษณุวัฒน์ ภู่ระหงษ์ ผกก.ฝอ. 4 แถลงข่าวกรณีกรณี ข้าราชการตำรวจหญิงสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงการเข้ามาเป็นตำรวจ 1 ปี ทั้งเรื่องการฝึก และการเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งมีการแชร์โพสต์ดังกล่าวจำนวนมาก
พล.ต.ต. นพศิลป์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานข้อมูลดังกล่าวแล้ว โดยทาง พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. กล่าวว่า มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สั่งการให้ผู้บังคับบัญชาเดินทางไปเยี่ยมข้าราชการตำรวจหญิงดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา พบว่า ส.ต.ต.หญิง คนธรส อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและมีอาการปลอดภัย
ปัจจุบัน ส.ต.ต.หญิง คนธรส ผบ.หมู่ ฝอ.4 บก.อก.บช.น. (ยังคงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ ฝ่ายอำนวยการ 4 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล) โดยได้พูดคุยกับทางคุณแม่ของส.ต.ต.หญิง คนธรส และได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
เบื้องต้นได้ให้ ส.ต.ต.หญิง คนธรส ได้อยู่ในความดูแลแพทย์อย่างใกล้ชิดรักษาตัวอยู่ก่อน ส่วนในเรื่องการฝึกของน้องที่ผ่านมา ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จะได้ทำการเสนอเรื่องมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการฝึกอมรม ดังกล่าว และจะติดตามความคืบหน้าทันที
จากการตรวจสอบพบว่า ส.ต.ต.หญิง คนธรส ได้มีการเข้าฝึกอบรมหลักสูตรกองร้อยน้ำหวาน ที่ บก.สอ.บช.ตชด. แต่ยังไม่จบหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน ส.ต.ต.หญิง คนธรส ก็ยังคงทำงานในตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ ฝ่ายอำนวยการ 4 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล อย่างไรก็ตามขณะนี้ข้อมูลอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยงานที่ส.ต.ต.หญิง คนธรส เข้ารับการฝึกและครูฝึก โดยได้สั่งการให้ผู้บังคับบัญชาเร่งรัดตามความคืบหน้าอย่างทันท่วงที
พล.ต.ต. นพศิลป์ กล่าวต่อว่า ส.ต.ต.หญิง สมัครใจลงมาฝึกตามหลักสูตร กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนเอง โดยมีไทม์ไลน์การฝึกตลอดหลักสูตรดังนี้
เริ่มการฝึกตั้งแต่ วันที่ 15 มี.ค. - 12 ก.ค. 2566 ผ่านมาเพียง 4 วัน วันที่ 19 มี.ค. 2566 ส.ต.ต.หญิงประสบอุบัติเหตุ ระหว่างการฝึก ถูกเพื่อนในรุ่น กระโดดชักเท้าหลังไปโดนศีรษะจนบาดเจ็บ ต้องส่งตัวไปรักษาด่วนที่ ร.พ.หัวหิน และส่งไปรักษาตัวต่อที่ร.พ.ตำรวจ กทม. แพทย์ลงความเห็นให้รักษาตัวอยู่ 10 วัน ช่วงวันที่ 20-29 มี.ค. 2566 พอถึงวันที่ 29 มี.ค. 2566 ส.ต.ต.หญิงกลับมารายงานตัวต่อ ที่กองร้อยการฝึก ฝึกต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 30 มี.ค - 7 เม.ย. 2566 กระทั่งวันที่ 8-17 เม.ย. ส.ต.ต.หญิง ได้พักตามกรอบเวลา
เมื่อถึงวันที่ 17 เม.ย. 2566 ต้องเริ่มการฝึก แต่ส.ต.ต.หญิงไม่ได้ กลับมาฝึก แต่ไปรักษาตัวต่อที่ ร.พ.ตำรวจ และรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง แพทย์ให้ความเห็นว่า เครียดวิตกกังวล ต้องรักษาอย่างใกล้ชิด ตามหลักสูตรการฝึก ต้องฝึกให้ครบ 440 ชั่วโมง แต่ด้วยอาการป่วย จึงฝึกต่อไม่ได้ ต้องส่งส.ต.ต.หญิงกลับไปที่กองอำนวยการ 4 ดังเดิม
ด้าน พ.ต.อ.วิษณุวัฒน์ ระบุ ว่าส.ต.ต.หญิง มีโอกาสกลับไปฝึกต่อได้อีกและสามารถมาบรรจุ ผบ.หมู่ ได้ แต่ในห้วงเวลาดังกล่าว ยังไม่เปิดการฝึกครั้งที่ 2
พล.ต.ต. นพศิลป์ ยืนยันว่า การที่ส.ต.ต.หญิงถูกเตะศีรษะนั้นคืออุบัติเหตุ ไม่มีใครตั้งใจให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และก็จะไม่มีบทลงโทษใดใดกับคนที่เตะด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ ส.ต.ต.หญิงก็โพสต์ ยืนยันแล้วว่าเป็นอุบัติเหตุจริง ส่วนเรื่องการเยียวยานั้นยืนยันว่า ทางต้นสังกัดจะรักษาส.ต.ต.หญิงให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก็จะได้รับตามสิทธิ์ข้าราชการอย่างครบถ้วน