ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่วัดกวยวนาราม บ้านอาวอก หมู่ 7 ต.ขอนแตก อ.สังขะ จ.สุรินทร์ พระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์  พระครูพิทักษ์สังฆกิจ เจ้าคณะอำเภอสังขะ พร้อมด้วยพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านผู้นำชุมชน และญาติโยมผู้ใจบุญที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศ  ร่วมกันตั้งขบวนช้างแห่ตราตั้งวัดกวยวนาราม โดยมี ผอ.สำนักงานพุทธจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย ศ.ดร.ศลีมาศ สุทธิสัมพัทน์ นายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย พระครูวินัยธรสมุทร ถาวรธมโม รักษาการแทนเจ้าอาวาส พร้อมศรัทธาญาติโยมร่วมให้การต้อนรับ

พระครูวินัยธรสมุทร ถาวรธมโม รักษาการแทนเจ้าอาวาส กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า  วัดกวยวนาราม เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยกลุ่มพี่น้องชาวชาติพันธุ์ชาวกวย  ซึ่งบ้านอาวอกและพื้นที่ตำบลขอนแตกร่วมทั้งบริเวณอำเภอศรีณรงค์ อำเภอปรางกู่ ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านจะพูดภาษากวย ภาษากูย แต่จะไม่ใช่คำว่า ส่วย  ในอานาคตวัดกวยวนารามแห่งนี้จะเป็นศูนย์รวมประเพณี วัฒนธรรมของพี่น้องชาวกวย-กูย  ทั้งวัฒนธรรมการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  วัฒนธรรมอาหารการกินที่มีอาหารพื้นบ้านโบราณ  ประเพณีกวนข้าวทิพย์ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ และอื่นๆอีกมายมาย  

วันนี้ถือเป็นวันที่ดี เป็นสิริมหามงคลอย่างมาก ในพิธีฉลองตราตั้งวัดฯอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งชาวบ้านได้รอคอยกันมาหลายปี ในการดำเนินการจัดตั้งวัดให้ถูกต้องตามกฤหมาย วันนี้ชาวบ้านมาด้วยความปลาบปลื้มยินดีเป็นอย่างมาก ที่มาของชาวกูย ชาวกวย หรือที่คนไทยชอบเรียกว่า ชาวส่วย ตามเอกสารไทยที่ปรากฏในอดีตเรียก “กอย”  ในส่วนของเอกสารจากกรุงศรีอยุธยา จนถึง รัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกรวมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในบริเวณเดียวกันว่า “เขมรป่าดง”เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยกระจายตัวในแถบภูมิภาคอีสานใต้ของประเทศไทย บริเวณแนวทิวเขาพนมดงรักกับทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง จนถึงบริเวณตอนกลางและตอนใต้ของประเทศลาว

สำหรับคำว่า "ส่วย" ไม่ใช่ชื่อเรียกของชนชาติพันธุ์ แต่เป็นคำเรียกของฝ่ายปกครองที่ใช้มาตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หมายถึง กลุ่มชนเผ่าหลายเผ่าในพื้นอีสานใต้ในอดีต(อย่างน้อยก็ 4 ชนเผ่าขึ้นไป ได้แก่ ชนเผ่าเขมร กูย ข่า ลาว กุลา ฯลฯ)ที่ต้องส่งสวยหรือถวายเครื่องราชบรรณาการให้ทางการ (กรุงเทพฯ) ในสมัยโบราณ เรียกชนเผ่าแถบอีสานใต้นี้เหมารวมรวมทั้งทุกชนเผ่าว่า "เขมรป่าดง" หรือเรียกอีกอย่างว่า "พวกส่วย" ชาวกูย มักจะถูกชาวกัมพูชาเรียกว่า ชนชาติเดิม