วันที่ 24 มีนาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยในระหว่างร่วมคณะของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฎิบัติราชการจังหวัดนครราชสีมา ว่า การที่นายกรัฐมนตรีได้มาลงพื้นที่ช่วยทำให้จังหวัดนครราชสีมา เป็นจุดสนใจของประชาชนทั่วประเทศอีกครั้ง จึงถือโอกาสนี้ โปรโมทการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะเมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก และถือเป็นจังหวัดที่มีเส้นทางท่องเที่ยวให้เลือกได้หลากหลายตามความสนใจของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ เป็นเมืองแห่งเทศกาลงานประเพณี มีเส้นทางการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์โลก โคราชจีโอพาร์ค เส้นทางเควสตาเขายายเที่ยง เส้นทางตามรอยกินรี ท่องถิ่นกินเที่ยวโคราช และยังมีโปรแกรมท่องเที่ยวสำหรับผู้ใส่ใจสุขภาพกาย-ใจ ขณะที่นักท่องเที่ยวสายมู ก็มีท่องเที่ยวเส้นทางศรัทธาขอพรเสริมสิริมงคลเมืองโคราช อีกทั้ง ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงโคราช-ชัยภูมิได้ด้วย เป็นต้น
โดยจังหวัดนครราชสีมาหรือเมืองโคราชถือว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวอย่างมาก โดยมีสถานพักแรม 482 แห่ง มีจำนวนห้องพัก 18,334 ห้อง ในปี 2566 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 7,939,895 คนแบ่งเป็นคนไทย 7,785,906 คนชาวต่างประเทศ 153,989 คนมีรายได้หมุนเวียนรวม 14,895 ล้านบาท โดยในปี 2567 ได้วางเป้าหมาย ที่จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่พื้นที่มากขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันธรรมดาและส่งเสริมให้เกิดการขยายวันพัก เพื่อให้สอดคล้องกับแผนส่งเสริมการท่องเที่ยว 365 วันมหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน@นครราชสีมา
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เส้นทางท่องเที่ยวเมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก (UNESO Triple Heritage City) ของจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย แหล่งท่องเที่ยวผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” เมื่อปี 2548 ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่
สำหรับแห่งที่สองคือ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อำเภอวังน้ำเขียว มีผืนป่าสะแกราช เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากยูเนสโกเมื่อปี 2519 ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อยู่ในพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาหลวง อำเภอวังน้ำเขียวและอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
ส่วนมรดกโลกแห่งที่สามของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถชมพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์และไดโนเสาร์แหล่งเรียนรู้ของการเริ่มต้นโคราช ยูเนสโก โกลบอล จีโอพาร์ค (Korat UNESCO Global Geopark) ซึ่งคณะกรรมการบริหารยูเนสโก ประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 โดยรับรองโคราช จีโอพาร์ค เป็นจีโอพาร์คโลก ยูเนสโก