วันที่ 24 มีนาคม 2567 แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงกรณีมีผู้ร้องเรียนต่อกกต.พิจารณา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคภูมิใจไทย จากกรณีรับเงินบริจาค หจก. บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ว่า กรณีนี้มีหลายคนมองว่า พรรคภูมิใจไทยต้องถูกยุบจากกรณีดังกล่าว และกล่าวหาว่ากกต.มีการเลือกปฏิบัติระหว่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล ว่า เหตุใดพรรคก้าวไกลที่ถูกร้องเรียนทีหลัง กกต.กลับยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่พรรคภูมิใจไทยที่ถูกร้องเรียนเข้ามาก่อน

แหล่งข่าวชี้แจงว่า เรื่องนี้ต้องบอกว่าทั้ง 2 พรรคการเมืองนั้น ถูกร้องเรียนกันคนละประเด็น และใช้คนละมาตรา โดยในส่วนของพรรคก้าวไกลนั้นจะใช้มาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเหมือนกรณีพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมีคนพิพากษามาแล้ว คือ ศาลรัฐธรรมนูญที่มีการประชุมกว่า 62 ครั้ง และชี้มาให้เห็นแล้ว ส่วนพรรคภูมิใจไทย จะใช้มาตรา 93 ต้องใช้เวลา เพราะไม่มีใครมาชี้ให้ก่อน ดังนั้นทางกกต.จำเป็นต้องเป็นผู้รวบรวบพยานหลักฐานเอง

อีกทั้งการร้องเรียนพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคยังเป็นการร้องเรียนคนละฐานความผิด โดยพรรคก้าวไกลถูกร้องเรียนความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ส่วนพรรคภูมิใจไทยถูกร้องเรียนเรื่องเงินผิดกฎหมาย ซึ่งการจะถูกยุบในกรณีของพรรคภูมิใจไทยนั้นจะมีอยู่ 3 องค์ประกอบ หากมีแค่เพียงข้อใดข้อหนึ่งก็สามารถถูกยุบได้ คือ 1.วิธีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เหมือนกรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงิน 2. คนให้ไม่มีคุณสมบัติ หรือคุณสมบัติต้องห้าม และ 3.ที่มาของเงินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ดังนั้นเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของพรรคภูมิใจไทยคือ 1.เรื่องที่มาของเงิน ซึ่งการบริจาคเงินนั้นกฎหมายไม่ได้ห้าม 2.คุณสมบัติของผู้ให้ กรณีนี้ต้องแยกกับข้อกล่าวหาเรื่องการอำพรางหุ้นออกจากกัน เพราะในข้อนี้จะดูถึงการเป็นบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งบริษัทก็จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่ามีคุณสมบัติสามารถบริจาคเงินได้ 3.ที่มาของเงินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ นี่คือประเด็น

“กกต.ไม่ได้มีหน้าที่ในการชี้ว่า เงินนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ คนที่มีอำนาจชี้ตรงนี้ได้ คือ ศาล , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หากชี้มาวันไหน ทางกกต.ก็สามารถดำเนินการต่อได้ในวันนั้น สรุปคือ ต้องมีคำพิพากษามาให้กกต. ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วกกต.ใหญ่มาจากที่ไหนถึงให้ไปชี้ว่าเงินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เช่นนั้นต่อไป หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเงินก็มายื่นที่กกต.ได้ทั้งนั้น”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากกต.ได้อธิบายอีกว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นการอำพรางหุ้น แต่ไม่ได้บอกว่าเงินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตรงนี้เป็นคนละประเด็นกัน เพราะการอำพรางหุ้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมายอีกแบบ ดังนั้น ตราบใดที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ไม่ได้ชี้ว่าเงินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เงินนั้นก็ถือว่าถูกกฎหมาย แต่คนอาจจะมองว่า กกต.ไปอุ้มภูมิใจไทยหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะนี่คือกระบวนการตามกฎหมายแท้ๆ แน่นอนว่า คนอาจจะมองว่าเงินนี้มีปัญหา แต่คนนั้นก็ไม่ใช่ผู้ตัดสิน แล้วมาบอกว่า กกต.เลือกปฏิบัติ นั่นก็คือ คนมอง ใครตัดสิน กฎหมายว่าอย่างไร กรณีนี้จะรอดหรือไม่รอด ไม่รู้ แต่หากมีคนไปฟ้องต่อศาล หรือหน่วยงานที่มีอำนาจ แล้วมีการชี้ว่า เงินนั้นผิดกฎหมายกกต.ก็จะสามารถดำเนินการต่อได้ แต่กกต.ไม่ได้เป็นคนฟ้องแทน เพราะฉะนั้นเราไม่ได้อุ้มใคร แต่เราไม่มีอำนาจให้ทำ นี่คือกฎหมาย

เมื่อถามว่า ตอนนี้สิ่งที่กกต.ทำได้เกี่ยวกับข้อร้องเรียนดังกล่าว แหล่งข่าวกล่าวว่า ตอนนี้คาอยู่ อย่างพลังประชารัฐ เงินสีเทา ซึ่งถามไปยังป.ป.ง. แต่เขาไม่ชี้มาก็ทำไม่ได้ เหมือนกับอันนี้ ต้องมีการพิสูจน์ว่า เงินที่เอามาบริจาคนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเขาอาจบอกว่าเงินประมูล หรือเอาเงินก้อนไหนมาบริจาค

ส่วนกรณีเงินบริจาคซึ่งก็เป็นของบริษัทที่เป็นนอมินีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็คนส่วนใหญ่จะมองอย่างนั้น แต่หากบริษัทนั้นอาจจะทำหลายอย่าง เงินนั้นอาจจะได้มาก่อน หรือมาหลังก็ได้ ดังนั้นต้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจชี้มาก่อน เพราะหากผู้ถูกร้องมาชี้แจงก็ย่อมชี้แจงว่าเงินนั้นชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นเงินไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องให้กฎหมายเป็นคนพูด เราคิดเองไม่ได้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ตอนนี้อยู่ในชั้นอนุกรรมการ และอยู่มานานปีกว่าแล้ว เพราะกกต.รอเงื่อนไขที่ 3 นี้ ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจของกกต. ส่วนเงื่อนไขที่ 1 ,2 นั้นถูกแล้ว