"รมช.ไชยา" ปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย ปี 2567” พร้อมร่วมมือทุกภาคส่วนผลักดันรายได้เกษตรกรไทยเติบโต 3 เท่าใน 4 ปี

วันที่ 22 มี.ค.67 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกล่าวเปิดงาน “สัมมนาความท้าทายอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย ปี 2567 จะรุ่งหรือจะร่วง” ดำเนินการจัดงานโดย คณะกรรมการธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมี นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นักวิชาการ เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ซึ่งการจัดงานสัมมนามีวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเกษตรกรไทยให้เกิดการผลักดันอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยให้มีศักยภาพมีมาตรฐาน สามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สอดรับกับวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture and Food Hub)” ของโลก

รมช.ไชยา ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย ปี 2567” โดยกล่าวถึง นโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งการจะผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง ต้องเริ่มจากการดูแลภาคการเกษตรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้ภาครัฐเป็นสะพานเชื่อมต่อภาคเอกชนให้เกิดการผสานแนวความคิดนำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลกำลังการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำให้ดีขึ้น ด้วยการเจรจากับประเทศที่ต้องการรับซื้อสินค้าปศุสัตว์มีชีวิตจากไทย เช่น จีน เวียดนาม และซาอุดิอาระเบีย ให้เกิดการค้าในระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่อง พร้อมทั้ง พัฒนาโรงงานแปรรูปสินค้าปศุสัตว์และโรงงานวัคซีนป้องกันโรคระบาดสัตว์ให้เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ รวมถึงได้รับมาตรฐานส่งออกสามารถจำหน่ายให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่งผลให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลมีหน้าที่ขจัดอุปสรรคทางการเกษตรและทางการค้าเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโต เกษตรกรสามารถหารายได้จากการทำเกษตรกรรม รวมถึงร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียนต่อไป

จากข้อมูลในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ปริมาณจำนวน 2.07 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.37 แสนล้านบาท โดย 3 สินค้าอันดับแรก ได้แก่ 1) สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ 2) สินค้ากลุ่มน้ำผึ้ง ไข่ นม อื่นๆ และ 3) สินค้ากลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตาม ปี 2567 คาดการณ์ว่าสถานการณ์การผลิตสินค้าปศุสัตว์จะขยายตัวถึงร้อยละ 1.7 - 2.7 จากปัจจัยสนับสนุนของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นในภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์ทั้งในและต่างประเทศยังมีความต้องการต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าสุกร ไก่เนื้อ และโคเนื้อ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าความท้าทายอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทย ปี 2567 จะเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกด้วย