นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยแนวทางพัฒนาทางเท้ากรุงเทพมหานครว่า จากการลงพื้นที่สำรวจทางเท้าในกรุงเทพมหานคร พบยังมีไม้พุ่มรอบโคนไม้ใหญ่บนทางเท้าอยู่ เช่น ย่านคลองช่องนนทรี ย่านสีลม กทม.มีแผนรื้อไม้พุ่มบนทางเท้าออกทั้งหมด เนื่องจากพบว่าเป็นที่ทิ้งก้นบุหรี่ หมากฝรั่ง ขวดแก้ว เศษขยะชิ้นเล็ก ยากต่อการเก็บทำความสะอาด รวมถึงเป็นที่อาศัยของหนู โดยจะใช้พอรัสแอสฟัลต์ปูทับรอบโคนต้นไม้ทดแทน ซึ่งเป็นวัสดุมีคุณสมบัติระบายอากาศ น้ำสามารถซึมผ่านถึงรากไม้ได้ ทำให้ทางเท้ากว้างและโล่งขึ้น รถวีลแชร์สามารถผ่านได้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วย่านสุทธิสาร

 

ส่วนต้นไม้ใหญ่บนทางเท้า กทม.ประสานกับหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาในการตัดแต่ง และบำรุงรักษา ซึ่งทางเท้าบางช่วง เช่น ที่เอกมัย อาจต้องมีการขอพื้นที่เอกชนเพิ่มเติม เพื่อขยายให้กว้างขึ้นอย่างน้อย 90 เซนติเมตร จากเดิม 60-70 เซนติเมตร แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ จำเป็นต้องรื้อย้ายต้นไม้เพื่อให้รถวีลแชร์สามารถผ่านได้ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดขยายทางเท้าในจุดที่มีถนนกว้างเพียงพอ และมีทางเท้ากว้างต่ำกว่า 80-90 เซนติเมตร โดยจะลดขนาดถนนลง เพื่อเพิ่มขนาดทางเท้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ไข ส่วนแนวคิดทำหลังคาบนทางเท้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจความคิดเห็น เนื่องจากต้องทำบนพื้นที่หน้าบ้านประชาชน และประชาชนบางรายไม่ยอม จึงยังไม่ได้ข้อสรุป

 

ส่วนเรื่องปัญหารถมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า ทำให้อายุการใช้งานทางเท้าสั้นลง เป็นอันตรายต่อคนเดินเท้า กทม.พยายามแก้ไขด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ปรับจุดกลับรถ เพิ่มทางรถมอเตอร์ไซค์และจักรยานในจุดที่มีถนนกว้างพอ โดยพยายามทำในส่วนที่ กทม.ทำได้ เพราะ กทม.ไม่มีอำนาจไปจับปรับผู้กระทำผิด เป็นหน้าที่ของตำรวจ

 

ด้านนายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยสาเหตุและแนวทางแก้ไขรถมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้าว่า เรื่องนี้ผู้ว่าฯกทม.ให้ความสำคัญมาก เนื่องจากทำให้ทางเท้าที่ก่อสร้างปรับปรุงใหม่เสียหาย ต้องเสียงบประมาณซ่อมแซม และเป็นอันตรายต่อผู้คน กทม.จึงหามาตรการป้องกันเรื่อยมา เริ่มจากติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับป้ายทะเบียนเมื่อเดือน มิ.ย.66 และพบว่า ผู้ขับขี่บนทางเท้าส่วนใหญ่คือ วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ และประชาชนทั่วไป

 

จากนั้นช่วงเดือน พ.ย.66 กทม.ทำบันทึกข้อตกลงกับ 13 บริษัทประเภทไรเดอร์ขนส่ง เพื่อร่วมกันสร้างมาตรการลงโทษผู้ขับขี่บนทางเท้าของแต่ละบริษัท ในส่วนวินมอเตอร์ไซค์กว่า 5,200 วินทั่วกรุงเทพฯ และประชาชนทั่วไป กทม.ประสานสำนักงานเขตในการทำความเข้าใจ ตักเตือนและกวดขัน

 

จากการลงพื้นที่ติดตาม พบสาเหตุสำคัญของการขับขี่ย้อนศร หรือขับขี่บนทางเท้า คือ 1.จุดกลับรถไกล  เช่น บริเวณห้างสรรพสินค้าย่านบางนา มีจุดกลับรถไกลถึง 5 กิโลเมตร ผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ให้เหตุผลว่า หากไม่ย้อนศรหรือขับขี่บนทางเท้า ผู้โดยสารต้องจ่ายเงินเพิ่มจาก 15 บาท เป็น 50-70 บาท 2.ความเคยชิน เช่น ถนนย่านภาษีเจริญ บางแค หนองแขม มีซอยย่อยจำนวนมาก ยกตัวอย่าง ซอย 70 กับ ซอย 72 ห่างกัน 20 เมตร จึงใช้วิธีขับย้อนศรสะดวกกว่าไปกลับรถ 3.ช่วงเช้าและเวลาเลิกงาน เป็นช่วงเวลาเร่งด่วน รถติด มอเตอร์ไซค์จึงเลือกวิ่งบนทางเท้า ไม่สามารถรอได้

 

นายสิทธิชัย กล่าวว่า จากปัญหาที่พบ สำนักการจราจรและขนส่ง อยู่ระหว่างติดตั้งกล้อง AI เพิ่ม จากเดิม 15 จุด เพิ่มอีก 100 จุดภายในปี 67 เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้กระทำผิดกับเจ้าหน้าที่กวดขัน รวมถึง การติดตั้งเสาเอสการ์ด หรือเสาป้องกันมอเตอร์ไซค์ขึ้นวิ่งบนทางเท้า แต่รถวีลแชร์สามารถผ่านได้ ซึ่งได้เริ่มแล้วที่เขตภาษีเจริญ จำนวน 8 จุด โดยร่วมมือกับภาคเอกชน และการส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันสร้างความปลอดภัยบนทางเท้า ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีเดินเท้าในการเที่ยวชมเมือง นอกจากนี้ กทม.อยู่ระหว่างออกแบบการรณรงค์ประชาสัมพันธ์กระตุ้นจิตสำนึกในการขับขี่ เนื่องจาก มองว่าปัญหาขับขี่บนทางเท้าที่เกิดขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากขาดจิตสำนึก

 

นายวิศณุ กล่าว “เรื่องทางเท้า กทม.ต้องเริ่มทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ถ้ามัวรอ จะไม่พัฒนาสักที อะไรที่ทำได้ต้องทำไปก่อน อะไรทำไม่ได้ต้องขอความร่วมมือหน่วยงานอื่น หรือเข้าไปช่วยหน่วยงานอื่นบ้าง ช่วยกันดำเนินการหลาย ๆ ทาง”

 

สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขับขี่บนทางเท้า สถิติจากกล้อง AI ที่ผ่านมา เดือนพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 พบไรเดอร์ 13 แพลตฟอร์ม ลดลง 43.51% รถจักรยานยนต์รับจ้าง ลดลง 53.33% ประชาชนทั่วไป ลดลง 37.49%

 

ส่วนผลดำเนินการกวดขันรถจอดหรือขับขี่บนทางเท้า โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจ เดือนมิถุนายน 2566 - มกราคม 2567 พบผู้กระทำผิด 13,644 ราย ตักเตือน 1,507 ราย เปรียบเทียบปรับ 12,137 ราย

 

ส่วนผลการแก้ไขปัญหารถจอดหรือขับขี่บนทางเท้า จาก Traffy Fondue เดือนมิถุนายน 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 พบจำนวนเรื่องทั้งหมดที่ได้รับ 414 เรื่อง แก้ไขเสร็จสิ้น 399 เรื่อง

​​​​​​​ ​​​​​​​ ​​​​​​​