สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
คำว่า “เกศบัวตูม” เป็นพุทธเอกลักษณ์ของพระเกศขององค์พระที่มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูมอยู่เหนือพระเศียร ชื่อ “พิมพ์เกศบัวตูม” นี้ มีทั้งในพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามและพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม จึงกลาย เป็นเหตุให้เกิดข้อถกเถียงกันมากในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง เนื่องด้วยพุทธลักษณะที่เหมือนกันมาก โดยเฉพาะ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ใหญ่ ฐานสิงห์แคบ จนต้องใช้การพิจารณาทางเนื้อหามวลสาร การตัดขอบ คราบขี้กรุ เพื่อเป็นตัวตัดสินระหว่าง 2 วัด
เหตุที่โบราณาจารย์ตั้งชื่อพิมพ์ว่า “เกศบัวตูม” นั้น เนื่องมาจากพุทธลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของพระเกศขององค์พระที่มีลักษณะประดุจดอกบัวตูมอยู่เหนือพระเศียร นอกจากนี้พระกรรณทั้งสองจะมีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม คนโบราณเรียก “หูบายศรี” คือ โค้งเป็นรูปกระทงบายศรี ไม่ดิ่งเป็นแท่งเหมือนพิมพ์อื่นๆ ในองค์ที่ติดชัดจะเห็นพระนาสิก พระเนตร และพระโอษฐ์บางๆ องค์พระดูสง่า ล่ำสัน ไม่ดูอ่อนช้อยนัก
เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม
- พื้นด้านนอกซุ้มครอบแก้วจะนูนสูงกว่าพื้นด้านใน
- เส้นซุ้มครอบแก้วหนาและใหญ่
- พระเกศเป็นรูปบัวตูม และที่โคนพระเกศมีพวงมาลัยครอบ
- พระนลาฏ (หน้าผาก) มีศิลปะเอียงลาดจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน
- องค์ที่ติดชัดมากจะปรากฏพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ รำไรเบาบาง
- พระกรรณทั้งสองข้างเป็นรูปบายศรี แลดูอ่อนช้อยงดงาม
- พระบาทด้านบนเรียวและชัดเจนกว่าด้านล่าง
- ปลายหัวฐานชั้นที่ 1 ทั้งสองข้างตัดแหลมและชิดกับซุ้มครอบแก้ว
- หัวฐานชั้นที่ 2 จะแลดูเหมือนฐานสิงห์
- เส้นบังคับขอบแม่พิมพ์จะห่างจากซุ้มครอบแก้ว
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม แบ่งย่อยออกเป็น 3 พิมพ์ คือ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ใหญ่ ฐานสิงห์แคบ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ใหญ่ ประทับนั่ง ห้อยพระบาท และ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์เล็ก
ด้วยข้อสังเกตดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็พอจะเป็นหลักเบื้องต้นในการแยกแยะและพิจารณาพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม ได้อย่างค่อนข้างชัดเจนในระดับหนึ่ง ครับผม