‘ก้าวไกล’รุมสับงบ “ยธ.” ไม่ตอบโจทย์คืนคนดีสู่สังคม นักโทษทำผิดซ้ำ-สูงลิ่วกว่า 9 หมื่นราย อัดค่าเช่ารถหรูข้าราชการตุลาการ 3.6 แสนบาทต่อปี ขณะที่กรมราชทัณฑ์ตั้งเป้านักโทษสูงเกินจริงทุกปี แต่จัดสรรงบไม่เคยเพียงพอกังขามีเงินทอนหรือไม่ ส่วนกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ ของบ 2 พันกว่าล้านจะใช้หมดทันเวลาหรือไม่
เมื่อวันที่ 21 มี.ค.67 ที่รัฐสภา เวลา 19.30 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่สอง เรียงตามรายมาตรา จำนวน 41 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นวันที่ 2
โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณามาตรา 21 งบประมาณกระทรวงยุติธรรมจำนวน 13,326 ล้านบาท ซึ่งกมธ.ขอปรับลดลง 107 ล้านบาท โดยน.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กทม.พรรคก้าวไกล อภิปรายแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ในส่วนงบประมาณสำนักงานศาลยุติธรรม จำนวน 6,973 กว่าล้านบาท ซึ่งเกี่ยวกับการจัดสร้างบ้านพักผู้พิพากษาและรถประจำตำแหน่งของข้าราชการตุลาการ โดยในส่วนนี้เป็นค่าเช่ารถยนต์ประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ 41 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นค่าเช่ารถระดับ D Segment ชั้นต้น 3 หมื่นบาทต่อเดือน รวมเป็น 3.6 แสนบาทต่อปี ซึ่งสามารถเช่าได้ 112 คัน แม้ว่าอาชีพตุลาการจะเป็นอาชีพที่มีเกียรติ แต่ในความเห็นตนทุกอาชีพมีเกียรติเท่าเทียมกัน จึงตั้งคำถามว่าทำไมต้องจัดงบอุดหนุนในส่วนนี้เป็นการเฉพาะ
ขณะที่น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงงบประมาณกรมราชทัณฑ์ปี 67 ไม่ตอบโจทย์การคืนคนดีสู่สังคมว่า มีงบประมาณในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขังคืนสู่สังคมใน 2 โครงการ หลักสูตรแรกเป็นหลักสูตรทั่วไป ตั้งงบไว้ 12 ล้านบาทเศษ หลักสูตรที่สองปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งงบไว้ 13 ล้านบาทเศษ รวมเป็น 25 ล้านบาทเศษ แต่เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของทั้ง 2 หลักสูตร หลักสูตรแรกตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ 4-5 หมื่นคน พื้นที่ดำเนินการ 137 เรือนจำทั่วประเทศ ขณะที่หลักสูตรที่สองตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ 2,200 คน พื้นที่ดำเนินการ 11 แห่ง จะเห็นว่าหลักสูตรแรกใช้เงินน้อยกว่าแต่กลุ่มเป้าหมายมีจำนวนมากกว่า ขณะที่หลักสูตรที่สองใช้เงินมากกว่าแต่กลุ่มเป้าหมายน้อยกว่าหลายสิบเท่า ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวใช้เงินมหาศาล แต่ไม่ได้ช่วยเตรียมความพร้อมของผู้ต้องและไม่สอดรับกับตลาดแรงงาน ไม่คำนึงถึงศักยภาพและความต้องการของผู้ต้องขัง ตนสงสัยว่าผู้ตั้งขังที่ถูกปล่อยตัวทุกคนต้องออกมาเป็นเกษตรกร และมีที่ดินที่ของตัวเองที่ในการทำเกษตรหลังพ้นโทษหรือไม่
น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า การที่ผู้ต้องขังพ้นโทษออกไปแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพได้จริงก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำความผิดซ้ำ จากสถิติของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 66 รายงานว่าในจำนวนนักโทษ 216,138 ราย มีการทำผิดซ้ำ 94,323 คน คิดเป็น 44 % ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนๆ หน้านี้เลย โดยมีผู้ตั้งขัง 10,827 คน หรือ 9% ทำผิดซ้ำภายปีเดียวกันนั้นเอง สะท้อนว่าโครงการของกรมราชทัณฑ์ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้
ขณะที่น.ส.วรรณิดา นพสิทธิ์ สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงการตั้งเป้าหมายจำนวนนักโทษสูงเกินจริงแต่งบประมาณไม่เคยเพียงพอต่อต้นทุนการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งในปี 67 มีการประเมินจำนวนนักโทษอยู่ที่ 2.7 แสนคน แต่จำนวนนักโทษจริงอยู่ที่ 2.8 แสนคน ทุกรัฐบาลที่ผ่านตั้งเป้าหมายนักโทษสูง แต่งบไม่เคยเพียงพอ และไม่ควรให้เกิดปัญหาซ้ำซากเช่นนี้อีก ส่วนที่ควรเพิ่มกลับไม่ได้งบประมาณ เช่น ค่าอาหารที่ไม่เคยเพียงพอกับนักโทษ ขนาดค่าอาหารยังไม่พอ คุณค่าทางโภชนาการยิ่งไม่ต้องพูดถึง ในขณะที่ค่าไฟกลับเพิ่มสูงขึ้น 421 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 75 ล้านบาท ทั้งที่ปีก่อนหน้าขึ้นมาแค่ 17 ล้านบาท ในขณะที่ค่าไฟฟ้าและค่าเอฟทีลดลง หากจะอ้างว่ามีนักโทษมากขึ้น จากข้อมูลของตนนักโทษเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันทุกปี เมื่อเทียบกับสาธารณูปโภคก็เพิ่มในอัตราใกล้เคียงกัน แต่ในปี 67 สาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นเกือบ 150 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณูปโภคอย่างไม่เหมาะสม ตนจึงขอตัดงบประมาณ 5 เปอร์เซ็น จึงไม่รู้ว่าจะมีเงินทอนในส่วนของกรมราชทัณฑ์ส่วนนี้หรือไม่
ด้านนายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีงบแผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ตั้งงบไว้ 2,178,000 ล้านบาท ซึ่งในระหว่างนี้ได้มีการใช้งบปี 66 ไปพลางก่อนราว 448,600 บาท จึงเหลือยอดอีก 1,729,400 บาท จึงถามว่ากับห้วงเวลาที่เหลือของบปี 67 จะใช้งบประมาณจำนวนนี้ทันหรือไม่
ขณะที่นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ในฐานะกมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นชี้แจงถึงการปรับลดงบรวม 107 ล้านบาทว่า กมธ.พิจารณาโดยรอบคอบโดยเฉพาะในส่วนของกรมราชทัณฑ์เพื่อนสมาชิกท้วงติงว่าค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น โดยเทียบกับงบปี 66 ที่เคยของบ 500 ล้านบาทเศษ แต่ปี 67 เพิ่มขึ้นเป็น 700 กว่าล้านบาท สะท้อนข้อเท็จจริงในต้นทุนที่สูงขึ้น จึงไม่ได้ปรับลดงบในส่วนนี้เลย
หลังจากอภิปรายครบถ้วนทุกคนแล้ว ที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบมาตรา 21 ตามที่กมธ.เสียงข้างมากเสนอ ด้วยคะแนน 272 ต่อ 151 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน