“ทวี สอดส่อง” เปิดงาน “ก้าวไปข้างหน้า : การช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมฯ” พร้อมมอบโล่เกียรติคุณแก่สถานีตำรวจดีเด่น และ MOU ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการให้ความช่วยเหลือประชาชน

     วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 10 – 09 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ก้าวไปข้างหน้า : การช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม โดยความร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ...ในยุคดิจิทัล” พร้อมมอบโล่เกียรติคุณให้แก่สถานีตำรวจที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นในการแจ้งสิทธิและรับคำขอผู้เสียหายในคดีอาญา จำนวน 102 รางวัล และเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการให้ความช่วยเหลือประชาชน ระหว่าง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงนามร่วมกับ พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมี นางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ พล.ต.ต.วิทยา เย็นจิตต์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา ร่วมลงนามในฐานะพยาน ซึ่งมี คณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ คณะผู้บริหารในสังกัดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นเกียรติ

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย
      1. พิธีมอบโล่เกียรติคุณให้กับสถานีตำรวจ ที่มีผลการดำเนินงานแจ้งสิทธิและรับคำขอช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญาดีเด่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกย่องสถานีตำรวจและหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญาดีเด่น โดยรายชื่อบุคคล หน่วยงาน และสถานีตำรวจ ที่เข้ารับโล่เกียรติคุณ จำนวน 102 รางวัล แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 
        1) บุคคลและหน่วยงาน ที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนแจ้งสิทธิและรับคำขอช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย
ในคดีอาญาดีเด่น จำนวน 4 คน/หน่วย
        2) สถานีตำรวจนครบาล (ส่วนกลาง) ขับเคลื่อนงาน แจ้งสิทธิและรับคำขอช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญาดีเด่น จำนวน 5 สถานี
        3) สถานีตำรวจภูธร (ส่วนภูมิภาค) ขับเคลื่อนงานแจ้งสิทธิและรับคำขอช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญาดีเด่น จำนวน 93 สถานี

     2. พิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการให้ความช่วยเหลือประชาชน ระหว่าง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานสืบสวน สอบสวน การคุ้มครองพยานในคดีอาญา และป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนการช่วยเหลือแก่ผู้เสียหาย พยาน ผู้ขอรับบริการไกล่เกลี่ยในคดีอาญาให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559) พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 รวมถึงร่วมกันกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง การบังคับใช้กฎหมาย การสนับสนุนทางวิชาการ การศึกษาวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ " Best Practice  การแจ้งสิทธิและรับคำขอช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา เทคนิคและประสบการณ์ที่ดี รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อีกด้วย
 
“กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญาให้เข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง”

เราพร้อมยืนเคียงข้าง “ผู้บริสุทธิ์” และจะไม่หยุดช่วยเหลือเพื่อความยุติธรรม