สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นหน่วยงานสำคัญหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีภารกิจรอบด้านเกี่ยวกับภาคการเกษตรจนกล่าวได้ว่าเปรียบเสมือนเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ย่อยสำหรับพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ทั้งนี้ การดำเนินการของ ส.ป.ก. ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในด้านการถือครองที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ส.ป.ก. ในการดำเนินภารกิจไปสู่เป้าหมายขององค์กร เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยเฉพาะการดำเนินการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงและพัฒนาสิทธิในที่ดินเกษตรกรรม สร้างความมั่นคงในการถือครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร สามารถเติบโตและแข่งขันต่อไปได้ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอนาคต

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า จากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 51,967-0-95 ไร่ ให้แก่พสกนิกรผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อพัฒนาที่ดินให้เป็นที่ดินทำกินถาวร ตามโครงการปฏิรูปที่สินเพื่อเกษตรกรรม ต่อมาสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ตรวจสอบสภาพพื้นที่และได้กันคืนพื้นที่บางส่วน คงเหลือพื้นที่ 44,369-0-87 ไร่ มอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการ

ต่อมา ส.ป.ก. ดำเนินการปฏิรูปที่ดินในที่ดินพระราชทาน 5 จังหวัด โดยจัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์โดยวิธีการเช่า 3,509 ราย 4,437 แปลง 40,046-1-19.30 ไร่ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี นครนายก พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3,785-3-37.7 ไร่ เกษตรกรและครอบครัวได้รับประโยชน์ 1,937 ครัวเรือน การก่อสร้าง/ปรับปรุงถนน ถนน 18 เส้น สะพาน 12 แห่ง การก่อสร้าง/ขุดลอกคลอง ขุดลอก 17 แห่ง การก่อสร้าง/ปรับปรุงอาคารชลประทาน จำนวน 136 อาคาร พัฒนาระบบแปลงเกษตร 12,650 ไร่ สร้างสถานีสูบน้ำไฟฟ้า 2 สถานี และการบริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ

 

ในปี 2566 ส.ป.ก. ทำการจัดที่ดินและมอบ ส.ป.ก. 4-01 ไปแล้ว 251,693 ไร่ 25,441 ราย ออกโฉนดเพื่อการเกษตรทั่วประเทศ 67 จังหวัด 28,815 ฉบับ เกษตรกร 24,776 ราย พื้นที่ 236,278 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567) โฉนดเพื่อการเกษตร คือหนังสือแสดงสิทธิที่ ส.ป.ก. ออกให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) โดยผู้ได้โฉนดเพื่อการเกษตร คือ 1.เกษตรกรผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ไม่น้อยกว่า 5 ปี 2.มีการถือครองครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่ 3.ใช้ประโยชน์ที่ดินประกอบเกษตรกรรม สำหรับสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินแทนที่ (โอน) ให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ส.ป.ก. เมื่อได้รับโฉนดเพื่อการเกษตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยผ่านกลไกของ ส.ป.ก. โดยแผนดำเนินการพื้นที่เป้าหมาย 22 ล้านไร่ ภายใน 2 ปี ออกโฉนดเพื่อการเกษตรไม่ต่ำกว่าปีละ 11 ล้านไร่

ขณะที่การสนับสนุนงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 - 2566) กองทุนได้อนุมัติเงินเพื่อใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วทั้งสิ้น 203,760,820 บาท กระจายในพื้นที่ทั้ง 4 ภาค 54 จังหวัด แบ่งออกเป็นการสำรวจแหล่งน้ำผิวดิน จำนวน 12 จังหวัด 34 แห่ง การขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร จำนวน 20 จังหวัด 52 แห่ง การก่อสร้างบ่อบาดาลและระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์เพื่อการเกษตร จำนวน 24 จังหวัด 49 แห่ง การก่อสร้างระบบกระจายน้ำ 2 จังหวัด 2 แห่ง การก่อสร้างฝายชะลอน้ำชั่วคราว จำนวน 31 จังหวัด 377 แห่ง การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จำนวน 27 จังหวัด 260 แห่ง

ส่วนแนวทางการพัฒนากองทุนฯ ในอนาคต เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานปฏิรูปที่ดิน ได้แก่ 1.การให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน โดยการเช่าหรือเช่าซื้อ 2.เงินดอกผลจากการให้บริการสินเชื่อ 3.แนวทางการเพิ่มมูลค่าโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันการกู้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ เพื่อให้เกษตรกรขอสินเชื่อได้มากขึ้น และ 4.กำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นสำหรับการให้สินเชื่อโฉนดเพื่อการเกษตรดอกเบี้ยต่ำ

ทั้งนี้ มีการใช้เทคโนโลยีแผนที่มาใช้สนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน เช่น อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ใช้ในการสนับสนุนการทำงาน, ระบบนำทางด้วยดาวเทียม และภาพถ่ายทางอากาศ หรือ GNSS ซึ่งสนับสนุนระบบ RTK รังวัดแปลงที่ดิน ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เป็นมาตรฐานสากล และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS ใช้สนับสนุนการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนั้น ยังได้สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ผ่านศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (ศพส.) หรือศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเดิม ซึ่งส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุจากภาคการเกษตร โดยใช้ศิลปหัตถกรรมในการเพิ่มมูลค่า ยกระดับรายได้ให้เกษตรกรให้อยู่ได้ อยู่ดี    

“อย่างไรก็ดี ส.ป.ก. ยังคงเดินหน้าภารกิจ ชูแนวคิด Fast Forward To the Future พลิกโฉม เพิ่มมูลค่า มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน ภายใต้ F4 ได้แก่ FARMLAND : ที่ดินมีมูลค่า, FARMER : เกษตรกรมีศักยภาพ, FARMPRODUCT : สินค้าเกษตรมีคุณภาพมาตรฐาน และ FUND : เงินทุน ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว