ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: มรดกอันล้ำค่าตลอดกาลแด่ชาวไทยและชาวโลก นับแต่วันมหาวิปโยค 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15.42น.ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จสู่สวรรคตสู่สวรรคาลัย ยังความเศร้าโศกอาลัยแด่พสกนิกรชาวไทยเป็นล้นพ้นทั้งในและนอกประเทศ ผู้นำประเทศต่างๆทั่วโลกต่างกล่าวสดุดีและแสดงการไว้อาลัย รวมทั้งมีการลดธงชาติลงครึ่งเสา ซึ่งเป็นการถวายราชสดุดีอย่างสูงยิ่ง ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2559 สมัชชาสหประชาชาติได้จัดการประชุมเป็นการเฉพาะ เพื่อแสดงการไว้อาลัย และสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน โดยมีประธานสมัชชา UN เลขาธิการองค์การ UN ประธานกลุ่มประเทศครบทุกภูมิภาคของโลก และผู้แทนฯสหรัฐอเมริกา ผู้แทนไทยฯเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์เป็นคนสุดท้าย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4,600 กว่าโครงการ ที่สื่อมวลชนได้คัดเลือกส่วนหนึ่งนำเสนอผ่านสายตาประชาชนนั้น กล่าวโดยสรุปจากเมืองหลวงสู่ยอดดอย จากป่าดงพงไพรสู่ที่ราบ จนถึงท้องทะเล ล้วนมีโครงการของพระองค์ท่านปรากฏอยู่ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญยิ่งควบคู่ไปกับโครงการดังกล่าว ที่จะนำเสนอในบทความนี้คือคำสอนของพระองค์ สมเด็จพระบรมมหาภูมิพล อดุลยเดชทรงพระราชทานไว้มีประมาณ 300 คำสอน รวมทั้งบทพระราชนิพนธ์“พระมหาชนก”ด้วย แต่ในที่นี้จะเน้นไปที่ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงถ้านำมาร้อยเรียงโดยย่อก็ได้ความว่า คือความพอเพียง พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงจากความรู้ที่ต้องพัฒนาให้ทันสังคมอยู่เสมอ การมีจริยธรรมที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย การประพฤติปฏิบัติต่อกันของคนในสังคมก็ต้องอยู่ในความพอเพียง คือจะคิด จะพูด จะทำอะไรก็ล้วนแต่ต้องอยู่ในความพอเพียงทั้งสิ้น ความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดออม อดกลั้นก็รวมอยู่ในปรัชญานี้ด้วย หากนำเอากระแสพระราชดำรัสที่ได้ย่อไว้ข้างต้นมาพิจารณาอย่างละเอียด จะเห็นว่า เกี่ยวข้องกับบุคคลทุกสาขาอาชีพ จนถึงองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศที่จะได้นำเสนอดังนี้ ประเทศไทยในปี พ.ศ.2540 (ค.ศ. 1997) ได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจนับล้านๆบาท สาเหตุมาจากการที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีเหตุผลความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงใดๆทั้งสิ้น สถาบันการเงินปล่อยกู้ที่มีมาตรฐานต่ำ ความเสี่ยงสูง หวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง โดยมีความโลภเป็นพลังขับเคลื่อน รัฐบาลเข้าแก้ไขโดยใช้มาตรการปกป้องค่าเงิน สุดท้ายไทยแพ้ กองทุนที่โจมตีค่าเงินของไทยชนะ 1ดอลลาร์จาก25บาทขึ้นไปเป็น50บาท การช่วยของรัฐบาลเหมือนหนึ่งช่วยซ้ำเติมให้เลวร้ายขึ้น ผิดจากแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเกือบทุกอย่าง สหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤตการทางเศรษฐกิจ ซ้ำรอยเดียวกับของไทย ในปลายปี2007 คือเกิดจากการเงินเป็นต้นเหตุ และขยายลุกลามไปยังภาคอุตสาหกรรมในประเทศ สุดท้ายความเสียหายกระจายไปทั่วโลก ซึ่งประเมินความเสียหายไม่ได้เพราะมากมายมหาศาลเกินวิสัยที่ใครจะประเมินได้ สหรัฐอเมริกาประเทศดับเหตุวิกฤต สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว กว่าประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ เพราะอเมริกามีอุตสาหกรรมการพิมพ์เงิน (QE) โดยจะพิมพ์เงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ มากน้อยเพียงใดก็ได้ไม่จำกัดจำนวน ประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ จะเอาอเมริกาเป็นตัวอย่างไม่ได้ มูลค่าความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจ ของไทย และสหรัฐอเมริกามีมูลค่าเท่าใด ก็เป็นมูลค่าของการไม่ปฏิบัติในกรอบ ปรัชญาเศษรฐกิจพอเพียงเท่ากัน ระดับประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพ เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำก็สามารถอยู่ได้ไม่เดือดร้อน ถ้าได้ปฏิบัติตัวอยู่ในแนวทางของปรัชญา เศรษฐกิจพอพียง นอกจากไม่มีหนี้แล้ว ยังมีเงินออมไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินเป็นภูมิคุ้มกัน ปัญหาใหม่ที่น่ากังวล สำหรับประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางแห่งความ ”พอเพียง”ของพระองค์ท่านคือ ปัญหาหนี้สินในครัวเรือนของคนในทุกภาคส่วน ปัจจุบันมีหนี้สินครัวเรือนรวม 11 ล้านๆบาท มากกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่มีเพียง 5.5 ล้านๆบาทมากขึ้น 1 เท่าตัว รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนในโลก ไม่สามารถแก้ไขได้แต่เพียงฝ่ายเดียวทั้งหมด ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง โดยการปฏิบัติตัวให้อยู่ในกรอบของปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัด แต่ก็มีปัญหาแทรกซ้อนที่ไม่เป็นธรรม คือหนี้นอกระบบ จึงของฝากรัฐบาลไปยัง พลเอกประวิตร์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงให้รีบดำเนินการยกระดับในการปราบปราม อย่างเข้มงวดเด็ดขาดโดยเร็ว พระราชดำรัสครั้งหนึ่งที่เกี่ยวกับความ “พอเพียง” คือทรงตรัสว่า คนเราต้องปฏิบัติตนต่อคนในสังคมให้อยู่ในความพอเพียง ไม่ว่าจะคิดจะพูด จะทำอะไรก็ให้อยู่ในความพอเพียงทั้งสิ้น สามีภรรยาถ้าอยู่ด้วยกันอย่างพอเพียงทั้งสองฝ่าย ก็จะครองรักครองเรือนกันด้วยสุขอย่างยั่งยืน ปัญหาการหย่าร้างที่มีอยู่ในปัจจุบันมากมายก็จะลดลง ความยั่งยืนจะอยู่คู่กับความพอเพียงเสมอ ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง รู้เพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องนำไปปฏิบัติด้วยจึงจะเกิดผลดีต่อตนเอง 12 กันยายน 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ความตอนหนึ่งสรุปได้ว่า จะน้อมนำเอาปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการบริหารประเทศทุกนโยบาย ผมเริ่มติดตามการปฏิบัติงานของรัฐบาล เริ่มต้นจากการเสนอบทความในหนังสือ สยามรัฐนี้ เสนอให้รัฐบาล โดยใช้หัวข้อเรื่อง ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ถึงเวลาเป็นวาระแห่งชาติหรือยัง (ผมได้เสนอบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ต่อรัฐบาลที่ผ่านมาแล้ว 2 รัฐบาล) จากการติดตามพบว่า 2 ปีเศษที่ผ่านมารัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ได้ดีเกินคาด งบประมาณก็อยู่ในวินัยการเงินอย่างเข้มงวด โดยหนี้ สาธารณะรวมอยู่ที่ 42% ของGDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) โครงการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน ก็อยู่ในความพอเพียง เหมาะสม มีเหตุผล มีวินัยทางการเงินที่ดี ในส่วนเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ ก็มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเต็มพื้นที่ ล่าสุดก็มีโครงการประชารัฐ ตั้งงบประมาณให้ทุกหมู่บ้านๆละ 250,000 บาท เพื่อส่งเสริมความพอเพียงของประชาชนให้ดีขึ้น ในต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์ เผยแพร่ปรัญชา เศรษฐกิจพอเพียง ในที่ประชุมระดับผู้ทำประเทศในองค์การสหประชาชาติในการประชุมสุดยอด ASEAN การประชุม G77 ประเทศ ฯลฯ ซึ่งไทยเป็นประธานในปีนี้ ฯลฯ ผมฟังนายกรัฐมนตรีพูดแล้วทราบว่า ท่านเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง จึงขอเสนอเพียงสั้นๆ ว่า มรดกอันล้ำค่าปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงนี้ นายกรัฐมนตรีจงน้อมนำ รับไว้โดยทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศพอเพียง นำประชาชนไทยเป็นประชาชนพอเพียง และเป็นนายกรัฐมนตรีพอเพียงตลอดไป ธ สถิตย์ ณ ทิพย์สวรรคาลัย ยังคงมรดก“พอเพียง”ไว้ให้ทั้งไทยเทศ ปกเกศคุ้มเกล้าฯ ถ้วนทั่วชั่วกาลนิรันดร