คอลัมน์ เรื่องจากปก / โดย ทองแถม นาถจำนง
กฤษดาภินิหารของ ในหลวงฯที่ “คึกฤทธิ์” เห็น
“ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจยิ่งกว่าใครทั้งหมดในแผ่นดินไทย เกือบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์คนไหนจะทำงานได้มากขนาดนี้ พูดเป็นสุภาษิตโบราณก็เหมือนว่า อาบ พระเสโทต่างพระอุทกธารา....คืออาบเหงื่อต่างน้ำ ไม่มีอีกแล้ว” (คึกฤทธิ์ ปราโมช)
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเห็นบุญญาภินิหารของในหลวงฯ กับตา ท่านเล่าว่า
“สำหรับพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ผมไม่อยากพูด ท่านทั้งหลายคงทราบดีอยู่แล้วว่า ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียะกิจยิ่งกว่าใครทั้งหมดในแผ่นดินไทย เกือบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์คนไหนจะทำงานได้มากขนาดนี้ พูดเป็นสุภาษิตโบราณก็เหมือนว่า อาบพระเสโทต่างพระอุทกธารา คืออาบเหงื่อต่างน้ำ ไม่มีอีกแล้ว
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน ถ้าจะว่าในทางบุญญาภินิหาร รัชกาลปัจจุบันนี้แหละที่คนไทยได้เห็นบุญญาภินิหารของพระองค์มากที่สุด กระผมได้พบด้วยตนเอง ผมเองจะว่าคนโบราณก็โบราณ แต่ความรู้วิชาการสมัยใหม่ก็ยังมีอยู่ ได้เห็นเองบ้าง ไม่เห็นบ้าง และได้รับการบอกเล่าจากคนอื่นที่เชื่อถือได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ คุณหลวงสุรัตน์ณรงค์ ราชองครักษ์ เล่าให้ผมฟัง
เมื่อครั้งเสด็จประพาสทางชายพรมแดน ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จทอดพระเนตรแม่น้ำโขงฝั่งไทย พอไปถึงตำบลหนึ่ง ผู้ว่าราชการนครพนมเวลานั้นยืนอยู่ข้างพระองค์ คอยชี้แจง ก็กราบบังคมทูลว่า บ้านนี้เรียกว่าอย่างนั้น ตำบลนั้นชื่ออะไร ราษฎรมีเท่าไร ทำมาหากินอะไร ไปถึงตำบลหนึ่งเรียกว่า วังจระเข้ ก็ทรงพระสรวล มีพระราชดำรัสถามว่า แล้วมีจระเข้ไหม ผู้ว่าฯก็กราบบังคมทูล ไม่มี สมัยนี้เรือไฟ เรืออะไร จระเข้คงไม่มีอาศัยอยู่ได้ ก็ต้องหลบหนีไป ก็มีพระราชดำรัสว่า เสียดายจริง ฉันยังไม่เคยเห็นจระเข้ที่มันอยู่ตามธรรมชาติ พอมีพระราชดำรัสขาดพระโอษฐ์เท่านั้น จระเข้ขึ้น 2 ตัว ก็ทรงพระสรวล ชี้ให้ผู้ว่าฯดู ว่าเห็นไหม
ผู้ว่าฯ คืนนั้นกลับมาจวนแล้วเมา บอกว่าจระเข้มันทำกูเสีย ท่านเลยจับได้ว่าไม่ได้ไปตรวจท้องที่
ผมเคยเห็นยิ่งกว่านั้น เสด็จ ฯ เมืองเพชร เขาปลูกปะรำรับเสด็จฯใหญ่หน้าศาลากลาง 2 ปะรำ .... ขณะนั้นฝนตกหนักที่สุด...ราชองครักษ์ให้คนกางกลดถวาย พระองค์ทรงยับยั้ง บอกคุณหลวงว่า ก็เขาเปียกได้ เราก็เปียกได้ ว่าแล้วเสด็จพระราชดำเนินออกไป.... ฝนหยุดตก นี่เอาไปสาบานที่ไหนก็ได้ว่าเห็นมากับตา แปลกจริง ๆ ไม่มีฝน เสด็จพระราชดำเนินไปเข้าปะรำโน้น พอลับพระองค์ ฝนตกจั้ก ๆ อย่างเก่าอีกทันที พวกที่ตามเสด็จ ฯ ไม่ต้องพูดละ.... โชกไปด้วยกันหมด หนีไม่ทัน แม้องค์สมเด็จพระราชินีนาถยังเปียก เสด็จพระราชดำเนินคล้อยตาม นี่ก็เห็นกันมาแล้ว และอื่น ๆ อีกมากมายเหลือเกิน จะเล่าไปไม่มีที่สิ้นสุด” (จากปาฐกถาเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์” สิงหาคม พ.ศ. 2524)
“ลัดดา” เล่าไว้อีกเรื่องหนึ่งในหนังสือ “ใกล้เบื้องพระยุคลบาท กับลัดดาซุบซิบ” หน้า 136 – 137 ว่า
“อีกครั้งคราวเสด็จไร่กำนันจุลที่เพชรบูรณ์ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง
เมื่อไปถึงปรากฏมีแร้งบินรอบเฮลิคอปเตอร์เป็นวงกลม จนในหลวงต้องเสด็จออกจากเฮลิคอปเตอร์ แร้งจึงบินไป
สร้างความประหลาดใจให้กับประชาชนที่รอรับเสด็จเป็นอันมาก เพราะอยู่ ๆ แร้งซึ่งเป็นสัตว์ป่ามาบินรอบเฮลิคอปเตอร์อย่างไม่เกรงกลัวหรือตกใจ
ไม่แต่เท่านั้น คราวที่เสด็จอุบลราชธานี
ปรากฏชาวบ้านทอดแหได้ช้างในแม่น้ำมูล นับเป็นเรื่องแปลกประหลาดยิ่ง
ได้มีการนำช้างเชือกนั้นมาน้อมเกล้าฯ ถวายในหลวงด้วย”
สำหรับเรื่องชาวบ้านทอดแหได้ลูกช้างในแม่น้ำมูลนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าไว้หน่อยหนึ่งว่า
“พอเขียนถึงเรื่องช้างได้เชือกเดียว ก็หมดเวลาหมดเนื้อที่เสียแล้ว
ช้างที่ยังจะเขียนถึงได้นั้น ยังมีอีกมาก
เป็นต้นว่า “พลายบุญส่ง” ช้างที่มาสู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จจังหวัดอุบลราชธานีเป็นครั้งแรก
พลายบุญส่งมาสู่พระบารมีด้วยวิธีอันแปลกประหลาดตั้งแต่ยังเป็นลูกช้างเกิดใหม่
เพราะพลายบุญส่งลอยน้ำมาในแม่น้ำมูล
คนที่แลเห็นนึกว่าเป็นปลา เอาแหไปทอดติดขึ้นมาแล้วก็นำตัวมาถวายพระเจ้าอยู่หัว
ครับ ที่เมืองอุบลนั้น เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ เขาทอดแหแล้วติดช้าง
ยังมีพระเศวตฯจากเมืองกระบี่ ซึ่งเมื่อทางจังหวัดได้รายงานเข้ามาแล้ว รัฐบาลประชาธิปไตยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ยอมรับรู้ เพราะเกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมพระบารมีหรืออย่างไรก็เหลือเดา แต่บอกปัดเสีย ไม่ยอมเอาเข้ามากรุงเทพ ฯ
เจ้าของช้างต้องนำไปออกงานวัดเก็บค่าดู
จนถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ฯ ทั้งรัฐบาลจึงได้ยอมรับรู้ และนำมาขึ้นระวางเป็นพระยาช้างต้น
แล้วก็ยังมีคุณพระเศวตร ฯ จากจังหวัดยะลา ซึ่งขณะนี้ยืนโรงอยู่ในสวนจิตร ฯ
คุณพระเศวตร ฯ เชือกนี้เลี้ยงหมาไว้หลายสิบตัว เวลาคุณพระไปไหน หมาวิ่งตามเกรียว”
คุณพระเศวตร ฯ ที่เลี้ยงหมานี้ เรียกย่อ ๆ ว่า “พระเศวตรเล็ก” ชื่อเต็มอย่างเป็นทางการคือ “พระเศวตสุรคชาธาร บรมนฤบาลสวามิภักดิ์ศุภลักษณเนตราธิคุณทศกุลวิศิษฏ พรหมพงศ์อดุลยวงศ์ตามพหัตถี ประชาชนสวัสดีวิบุลยศักดิ์อัครสยามนาถสุรพาหน มงคลสารเลิศฟ้า”
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกว่า คุณพระเศวตเล็ก ถูกพบโดยนายเจ๊ะเฮง หะระตี กำนันตำบลการอ โดยโขลงช้างเดินทางเข้ามาใกล้หมู่บ้านในเวลากลางคืน พอตอนเช้าก็พบเห็นลูกช้างพลัดฝูงอยู่ใต้ถุนบ้าน สันนิษฐานว่าแม่ช้างจะรู้ว่าลูกช้างตัวนี้เป็นช้างสำคัญ และนำมาส่งที่หมู่บ้าน เพื่อเข้ามาสู่พระบารมี ตั้งแต่ยังไม่หย่านม
เมื่อนายเจ๊ะเฮงได้เลี้ยงดูลูกช้างนั้นไว้ วันหนึ่งมีสุนัขตัวเมียป่วยหนักใกล้ตาย ได้กระเสือกกระสนมาบริเวณที่คุณพระเศวตเล็กกำลังอาบน้ำอยู่ ได้กินน้ำที่ใช้อาบตัวคุณพระ อาการป่วยก็หายไป คงเหลือเพียงอาการปากเบี้ยว และกลายเป็นสุนัข ที่คอยคลอเคลียติดตามคุณพระเศวตเล็กตลอดมา ได้ชื่อว่า “เบี้ยว”
ทางสำนักพระราชวัง โดยพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ) เจ้ากรมช้างต้นได้ตรวจสอบ พบว่าลูกช้างนั้นมีมงคลลักษณะถูกต้องตามคชลักษณศาสตร์ อยู่ในพรหมพงศ์ ตระกูลช้าง 10 หมู่ ชื่อ “ดามพหัตถี” พระเศวตสุรคชาธารนับเป็นช้างต้นช้างที่สามในรัชกาลที่ 9
พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2511 หลังจากพิธีสมโภชขึ้นระวาง และย้ายไปยืนโรงที่โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต นางเบี้ยวก็ได้ติดตามมาด้วย และออกลูกหลานติดตามคุณพระเศวตเล็ก อยู่ภายในพระราชวังดุสิตอีกหลายสิบตัว
พระ เศวตสุรคชาธาร เคยเป็นพระสหายในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ตามเสด็จราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่เสมอ
พระเศวตสุรคชาธาร ได้ล้มลง ณ โรงช้างต้นเมื่อ พ.ศ. 2520 (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าไว้ว่า
“เมื่อคุณพระเศวตฯ ยังเป็นลูกช้างเล็กๆ อยู่ที่บ้านกำนันในจังหวัดยะลา และยังไม่ได้ถวายตัวขึ้นระวางนั้น ปรากฏว่านางเบี้ยว (สุนัข) เป็นโรคอย่างหนักขนาดชักกระตุกไปทั้งตัว แทบจะเอาชีวิตไม่รอดอยู่แล้ว แต่ก็สู้อุตส่าห์กระเสือกกระสนคลานมาถึงที่คุณพระเศวตฯ อยู่ และเลียกินน้ำอาบของคุณพระเศวตฯ เข้าไป อาการป่วยทั้งปวงก็หายเป็นปกติ เดินเหินได้ตามเดิม รอดชีวิตมาได้นางเบี้ยวก็กตัญญูรู้คุณ ติดตามคุณพระเศวตฯ เรื่อยมา ไม่ยอมห่าง คุณพระก็เมตตาเอ็นดูนางเบี้ยวถือว่านางเบี้ยวเป็นหมาของคุณพระ
เมื่อถึงคราวที่คุณพระเศวตฯจะต้องเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพราะเป็นช้างต้นขึ้นระวางแล้ว ทั้งคุณพระเศวตฯและนางเบี้ยวก็ทุรนทุรายเดือดร้อนมาก นางเบี้ยวร้องทั้งกลางวันและกลางคืนจะตามคุณพระมาด้วย
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงมีพระราชกระแส ว่า ช้างทั้งตัวยังเอาไปได้ ทำไมหมาอีกตัวเดียวจะเอาไปไม่ได้ ให้เอาหมาไปด้วยเถิด สงสารมัน อย่าไปพรากมันเลย
นางเบี้ยวติดตามเข้ามาอยู่กับคุณพระเศวตฯ เล็กในสวนจิตรลดาด้วย และเป็นที่รักชอบของคนในวัง เมื่อเข้ามาอยู่ในรั้วในวังก็เลื่อนฐานะขึ้นเป็นแม่เบี้ยว บางคนเรียกคุณเบี้ยวด้วยซ้ำไป และได้ออกลูกออกหลานไว้ที่โรงช้างนั้นเป็นจำนวนมาก
แม่เบี้ยวตายไปหลายปีแล้ว แต่คุณพระเศวตฯ ก็ยังเลี้ยงลูกหลานแม่เบี้ยวสืบมา เวลาคุณพระเศวตฯ ออกเดินในสวนจิตรลดา หมาคุณพระทั้งปวงก็วิ่งตามเป็นฝูง และเชื่อฟังคุณพระทุกอย่าง
เมื่อครั้งพระนางเจ้าอลิซาเบธแห่งกรุงอังกฤษเสด็จพระราชดำเนินที่พระตำหนักจิตรลดา คุณพระเศวตฯ ก็มายืนคอยรับเสด็จ หมาทั้งปวงของคุณพระก็มาวิ่งเล่นกันอยู่เต็มสนาม
ผมบังเอิญไปเห็นเข้าก็เข้าไปกระซิบคุณพระว่า หมากระจัดกระจายเต็มทีแล้ว คุณพระได้ยินดังนั้น ก็ร้องเหมือนเสียงแตร หมาทั้งปวงก็วิ่งกลับมารวมกันอยู่บริเวณต้นไม้ใกล้ๆ คุณพระ ไม่ซุกซนต่อไป มีอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งคุณพระออกจะรักมาก วิ่งเข้ามาอยู่ใต้ท้องคุณพระ อาศัยคุณพระเป็นเงาบังร่ม
ควาญเล่าว่า เวลากลางคืนหมาหลายสิบตัวเหล่านี้ จะนอนแวดล้อมคุณพระ ใครเดินเข้าไปในเวลากลางคืนก็จะเห่าขึ้นพร้อมกัน และถ้าใครขืนเดินตรงไปถึงตัวคุณพระ ก็คงโดนหมารุมกัดแน่ๆ
คุณพระเศวตฯ เล็กมีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างน่าอัศจรรย์ แลเห็นพระองค์ต้องยกงวงขึ้นจบถวายบังคมทุกครั้งโดยไม่ต้องมีใครบอก และถ้าเสด็จพระราชดำเนินลงไปเยี่ยมที่โรงช้าง คุณพระก็จะเฝ้าฯ ไป และถวายบังคมไปเป็นระยะไม่มีขาด จนพระกรุณาตรัสว่า ไม่ต้องถวายบังคมบ่อยถึงเพียงนั้น คุณพระจึงจะหยุดถวายบังคม”
อีกครั้งที่ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช สัมผัสกับพระกฤษดาภินิหาร คือเมื่อคราวที่ต้องเดินทางไปผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจที่สหรัฐอเมริกา สมัยนั้นการผ่าตัดหัวใจยังมีความเสี่ยงสูง คือมีสิทธิ์ตายได้มาก
ก่อนเดินทางไปสหรัฐอเมริกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ท้ายที่สุดได้ทรงรับสั่งว่าไปผ่าตัดครั้งนี้จะไม่ตาย ให้รีบกลับ
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนไว้ว่า มีความเชื่อมั่นในขณะนั้น บังเกิดเป็นปิติอันเปี่ยมล้นว่า ครั้งนี้เห็นจะไม่ตายแน่ มีอาการขนลุกซู่ซ่า
“คึกฤทธิ์” บอกทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า “ในหลวง”เราเป็น “เทพ”
ทรงเป็น “เทพ” ก็เพราะตลอดพระชนม์ชีพท่านอุทิศให้กับราษฎรไทย
ครั้งหนึ่งผู้สื่อข่าว BBC กราบบังคมทูลขอพระราชทานสัมภาษณ์ ถึงพระราชทัศนะ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทย
พระองค์พระราชทานคำตอบว่า…
“การที่จะอธิบายว่า พระมหากษัตริย์ คือ อะไรนั้น...ดูเป็นปัญหาที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะในกรณีของข้าพเจ้า ถูกเรียกโดยคนทั่วไป ว่า ‘พระมหากษัตริย์’ แต่โดยหน้าที่ที่แท้จริงแล้ว ดูจะห่างไกลจากหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จัก หรือ เข้าใจกันมาแต่ก่อน…
หน้าที่ของข้าพเจ้าในปัจจุบันนั้น ก็คือ…ทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ ถ้าถามว่า…ข้าพเจ้ามีแผนการอะไรบ้างในอนาคต คำตอบ ก็คือ..ไม่มี เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า…
แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม..เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์…ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเรา”
เมื่อปี 2534 คึกฤทธิ์เล่าถึงพระกรุณาของพระเจ้าอยู่หัวทั้งต่อคนไทยและคนต่างชาติ ที่เขาประทับใจมากคือเมื่อครั้งที่เสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศถึง 14 ประเทศ เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ครั้งนั้นเขาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำขบวนเสด็จ ฯ ได้เห็นการทรงตอบสัมภาษณ์ของนักหนังสือพิมพ์ที่ลอสแองเจลิสอย่างไม่ถือพระองค์ เป็นอันพ้นจากสภาพไศเลนทร์โดยสิ้นเชิงในขณะนั้น และพระจริยาวัตรของพระองค์เป็นที่ประทับใจของพวกฝรั่งมาก
“ขณะนั้นภาพยนตร์เรื่อง The king and I กำลังฮิตอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา ใครได้เห็นใครก็สนใจ และเมื่อคนหนังสือพิมพ์ได้เข้ามาเฝ้า ฯ The King องค์จริงเข้าแล้ว ก็ย่อมจะคันปาก ถามเรื่องนี้กันไม่จบไม่สิ้น แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงถือสาในคำถาม ซึ่งบางทีก็ล่วงเกินไป และขณะเดียวกันก็ทรงมีพระอารมณ์ขัน เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้ภาษาอังกฤษบางคำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดที่จะใช้ในพระราชหัตถเลขาต่าง ๆ จนฝรั่งที่ได้อ่านพระราชหัตถเลขาเหล่านั้นจำขึ้นใจได้ เพราะเหตุที่ทรงใช้คำเหล่านั้นบ่อย จึงเป็นเรื่องที่ฝรั่งเห็นว่าน่าขบขันอยู่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำเหล่านั้นบ้าง เช่นคำว่า et cetera ซึ่งแปลว่าเรื่องอื่น ๆ หรือสิ่งอื่น ๆ นั้น คนหนังสือพิมพ์ฝรั่งก็หัวเราะด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เพราะเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สืบสันตติวงศ์ต่อมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ก็ทรงรู้จักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และได้ทรงอ่านเรื่องต่าง ๆ ที่ฝรั่งเอาไปรายงานเช่นเดียวกับฝรั่งอื่น ๆ......
สรุปความแล้วอาจจะกล่าวได้ว่า คนในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้นยังชื่นชมในพระบารมีของพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถของเรา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถึงสนามบินเยอรมนีตะวันตก ที่กรุงบอนน์ แล้วก็ต้องประทับรถยนต์จากสนามบินเข้าไปถึงในเมือง ซึ่งเป็นระยะทางไกลพอสมควร ผมได้นั่งรถโดยเสด็จฯ ไปกับเจ้ากรมพิธีการของเยอรมนีในสมัยนั้น กลางทางได้เห็นชาวนาคนหนึ่งซึ่งกำลังก้มหน้าขุดดินอยู่ เมื่อเห็นขบวนรถพระที่นั่งและธงมหาราช แกก็เปิดหมวกถวายคำนับ
ท่านอธิบดีกรมพิธีการของเยอรมนีท่านบอกผมว่า ภาพอย่างนี้หาดูไม่ได้อีกแล้วในประเทศเยอรมนี และพวกท่านเองก็เพิ่งได้เห็นตอนพระเจ้าอยู่หัวของเราเสด็จพระราชดำเนินถึงเยอรมนีคราวนี้เอง” (ซอยสวนพลู 9 กรกฎาคม 2534)
ปีเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ถ่ายทอดวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกรับชาวต่างประเทศ ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรี แสดงถึงพระมหากรุณาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อชนทุกชาติทุกภาษา
“เสด็จเข้าไปใกล้จนชิดตัวบุคคลเหล่านั้น และมีพระราชปฏิสันถารอย่างกันเองอย่างเข้าใจ และด้วยความเมตตากรุณา เท่าที่มนุษย์จะให้แก่กันได้ นับว่าเป็นภาพที่ทำให้เกิดความเคารพและภักดีแก่คนไทยที่ได้แลเห็นอย่างที่ไม่มีอะไรเหมือน......
ภาพที่เห็นในคืนวันนั้น คือภาพแห่งขัตติยะราชตระกูลของไทยซึ่งทรงประพฤติพระองค์เป็นปกติในศีลของกษัตริย์ ปราศจากความตื่นเต้น ปราศจากความประหม่า และปราศจากความเย่อหยิ่งยโสในพระราชอริยะยศ เราได้เห็นแต่ขัตติยะราชตระกูลซึ่งเต็มไปด้วยพระเมตตาพระกรุณา และราชหฤทัยซึ่งใฝ่รู้ทุกข์ของผู้อื่นทั่วทั้งบ้านทั้งเมือง.....
โอกาสเมื่อคืนวันที่ 14 นั้น เป็นโอกาสที่ชาวต่างประเทศทุกคนยากที่จะลืมได้ และผมซึ่งเป็นคนไทยได้เห็นภาพทางโทรทัศน์ก็ออกจะลืมได้ยากเช่นเดียวกัน เพราะความปีติโสมนัสที่เกิดขึ้นในขณะที่ได้ชมรายการนั้น เป็นของที่ลืมยากที่สุด” (ซอยสวนพลู 16 ตุลาคม 2534)
“วิลาศ มณีวัต” ยังได้เล่าถึงพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อเสด็จเยือนต่างประเทศ ไว้ในหนังสือ “พระราชอารมณ์ขัน” ความว่า
“คนหนังสือพิมพ์อเมริกันนั้น ขึ้นชื่อว่าดุ และไม่ค่อยจะรู้จักที่ต่ำที่สูง แถมยังก้าวร้าวอีกด้วย แม้กระทั่งจอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่อย่างครุสชอฟ เมื่อถึงคราวต้องไปเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้สื่อข่าวอเมริกัน ยังอดครั่นคร้ามไม่ได้ ดังนั้น ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี 2503 ทางรัฐบาลจึงได้จัดส่งบุคคลผู้หนึ่งไปชี้แจงทำความเข้าใจกับบรรดานักหนังสือพิมพ์อเมริกันเสียชั้นหนึ่งก่อน เท่ากับเป็นการปูพื้นพอให้ผู้สื่อข่าวอเมริกันได้ทราบถึงพระราชฐานะอันแท้จริงของพระเจ้าแผ่นดินไทย ว่ามิใช่เป็นเทพเจ้า แต่ก็ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาราษฎร ทั้งที่เป็นชาวพุทธ มุสลิม และคริสต์ เพราะในประเทศไทยนั้นทุกศาสนา ทุกนิกายต่างก็สามารถเผยแพร่ศาสนาของตนได้โดยอิสรเสรี
ในด้านประชาชนก็ได้เสด็จฯออกเยี่ยมราษฎรผู้ยากไร้ ในถิ่นทุรกันดาร พร้อมด้วยแผนที่ขนาดใหญ่ในพระหัตถ์ ทรงหาแหล่งน้ำช่วยเกษตรกรผู้ยากจนของพระองค์ จึงได้รับความเคารพบูชาอย่างล้นพ้นจากชาวบ้านที่ยากจนทั่วไป งานของบุคคลนี้ ในการไปทำความเข้าใจกับนักหนังสือพิมพ์ในอเมริกา เรียกกันว่าเป็นงานประชาสัมพันธ์ และทางรัฐบาลก็เห็นน่าไม่มีใครจะเหมาะยิ่งไปกว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ชี้แจงให้ผู้สื่อข่าวอเมริกันฟังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงมีพระราชฐานะอยู่เหนือการเมืองจึงไม่บังควรที่จะกราบทูลถามเรื่องการเมือง
'ถ้าหากจะกราบทูลถามเรื่องละคร The King and I จะถามได้ไหม?' นักข่าวหนุ่มคะนองคนหนึ่งซักม.ร.ว.คึกฤทธิ์
'ไม่แปลกอะไร คุณกราบทูลถามได้' ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบ 'ดีเสียอีก คุณจะได้ทราบว่าคิงมงกุฏจริงๆ นั้นหาได้เป็นตัวตลกอย่างในละครเรื่องนั้นไม่ แท้จริงทรงรอบรู้วิชาดาราศาสตร์ดีว่าพวกคุณหลายๆคนเสียอีก และทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีเป็นอันมาก'
นักข่าวตะลึงจดกันใหญ่
เนื่องด้วย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ไปปูพื้นกรุยทางไว้ก่อนเช่นนี้ ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถึงอเมริกา พวกหนังสือพิมพ์จึงยับยั้งไม่กล้ากราบทูลสัมภาษณ์เรื่องการเมือง แต่ได้กราบทูลถามความรู้สึกส่วนพระองค์ว่า
'นี่เป็นการเสด็จฯเยือนอเมริกาเป็นครั้งแรก….ทรงรู้สึกอย่างไรบ้าง?'
มีพระราชดำรัสตอบว่า 'ก็ตื่นเต้นที่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด เพราะข้าพเจ้าเกิดที่นี่ …ที่เมืองบอสตัน'
คงจะเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในโลก ที่จะสามารถตรัสได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ทรงมีพระราชสมภพที่อเมริกา ข้อความนี้ช่วยให้ผู้สื่อข่าวรู้สึกเคารพรักและมีความใกล้ชิดกับพระองค์ขึ้นมาทันที เพราะพระองค์มิใช่'คนต่างประเทศ' หากแต่เป็น'คนบอสตัน'คนหนึ่ง
ตอนใกล้จะจบการพระราชทานสัมภาษณ์ในวันแรกที่อเมริกา นักข่าวคนหนึ่งได้กราบทูลถามเป็นประโยคสั้นๆว่า 'จะทรงมีอะไรฝากไปถึงอเมริกันชนทั่วๆไปบ้าง?'
ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า 'คนอเมริกันดูช่างรีบร้อนกันเหลือเกิน ถ้าหากจะ GO SLOW จะทำให้มีความสุขยิ่งกว่านี้'
เช้าวันรุ่งขึ้นสถานีวิทยุในอเมริกาแทบจะทุกรัฐต่างเริ่มรายการว่า 'กษัตริย์จากไทยแลนด์รับสั่งฝากมาว่า GO SLOW...นับเป็นปรัชญาแบบไทยของพระองค์…ขอให้พวกเรา GO SLOW ในทุกๆอย่าง แล้วชีวิตของคุณจะสบายดีขึ้น'
ก่อนที่กลุ่มนักข่าวจะกราบทูลลามีนักข่าวหนุ่มคนหนึ่งกราบทูลถามเป็นคำถามสุดท้ายว่า 'ทำไมพระองค์จึงทรงเคร่งขรึมนัก…ไม่ทรงยิ้มเลย?'
ทรงหันพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพลางรับสั่งว่า 'นั่นไง…ยิ้มของฉัน'
แสดงให้เห็นถึงพระราชปฏิภาณ และพระราชอารมณ์ขันอันล้ำลึกของพระองค์ท่าน ทำให้ทรงเป็นที่รักของประชาชนอเมริกันโดยทั่วไป ในวันที่เสด็จฯ รัฐสภาคองเกรส เพื่อทรงมีพระราชดำรัสต่อสภา จึงทรงได้รับการถวายการปรบมืออย่างกึกก้องและยาวนานหลายครั้ง”
จะเห็นว่าการปฏิบัติงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ คึกฤทธิ์ในครั้งนั้น มีส่วนในการช่วยอธิบายให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติมีความเข้าใจและประจักษ์ถึงพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เป็นอย่างดี”