ธุรกิจการค้าเป็นเรื่องขึ้นลง แปรผันตามสภาพเศรษฐกิจ เดิมทีวัยรุ่นหนุ่มสาวต้องการทำร้านกาแฟ ทำร้านขนมปังของตัวเอง ต้องการอะไรแปลกใหม่ในลักษณะของ start up การขายของออนไลน์ การทำสื่อ ซึ่งในระยะแรกก็เป็นกระแสที่หวือหวา ร้อนแรงมาก แต่ในปัจจุบัน การจะคิดหาทางควักเงินจากกระเป๋าของคนอื่น หรือให้เขายอมซื้อหาสินค้าของเรา ใช้บริการของเรานั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ยากมาก การจะจับต้องลองของใหม่ที่ใจชอบจึงต้องระมัดระวัง คิดให้ละเอียดบนพื้นฐานของความเป็นจริง ทั้งต้องมั่นคง จริงใจ พร้อมสู้อย่างแท้จริง
    
จากปากคลองสานมาตามถนนเจริญรัถ มุ่งหน้าไปวงเวียนใหญ่ เลยร้านเซเว่นร้านที่สอง จะมีร้านข้าวแกงห้องแอร์ แต่ราคาเพียง ๓๕-๔๕ บาท เท่านั้น เจ้าของคือ คุณเรวรรณ เป็นร้านอาหารที่เจ้าของมีแนวคิดด้านใส่ใจลูกค้า ให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหาร ดูแลทุกจุดด้วยตนเอง ที่น่าสนใจคือ แนวคิดและการจัดการของเจ้าของ ก็เลยอยากเล่าสู่กันฟัง
    
คุณเรวรรณเกิดในครอบครัวชาวจีน จึงถูกฝึกให้ชีวิตคิดและทำแต่เรื่องงาน ทั้งที่ตอนเด็กอยากเล่นหม้อข้าว หม้อเกงตามประสาของเด็กหญิงทั่วไป แต่ไม่มีโอกาสได้เล่น จนกระทั่งช่วงปลายของชีวิตค่อยวางมือจากธุรกิจหลักลง เพราะมีพี่น้องหลายคนต่างเติบโตพอรับช่วงต่อไปได้แล้ว คุณเรวรรณเห็นสำนักงานมีพื้นที่ว่างบางส่วนก็เกิดแนวคิดอยากขายข้าวแกง ทำตามความฝันในวัยเด็ก จึงทำโครงการไปคุยกับผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่ง ผู้จัดการดูแล้วเห็นคำว่า ธุรกิจข้าวแกง ก็เลยบอกคุณเรวรรณว่า น่าจะไปไม่ไหว เพราะเรื่องของการขายข้าวแกงเป็นเรื่องทำนองอยู่ในเพิงขายของ รายได้ไม่แน่นอน เป็นระดับธุรกิจไม่ได้ ปล่อยเงินเพราะกรณีนี้คงไม่ได้ คุณเรวรรณฟังแล้วก็นึกโมโห คิดอยู่ในใจว่า เพราะคิดกันอย่างนี้เอง ร้านข้าวแกงจึงไม่มีโอกาสพัฒนาขึ้นมาได้ ไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสให้เขานี่เอง ทำไมข้าวแกงจะหรูหราไม่ได้ ต้องขายในห้างอย่างเดียวหรือ
    
คุณเรวรรณมีมานะมุ่งมั่นว่าต้องพิสูจน์เรื่องนี้ให้ได้ พอดีมีเพจแห่งหนึ่งที่ทำข้าวแกงกำลังใจ จำหน่ายในราคาถูกและชักชวนให้เข้าร่วม โดยการรับอาหารจากเพจมาจำหน่าย มีการทำเสริมบ้างบางรายการ คุณเรวรรณจึงตัดสินใจเปิดร้านโดยจัดร้านเป็นห้องแอร์ ใช้พนักงานมีจำนวนจำกัดเพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุน การถูกควบคุมราคา เพราะจำหน่ายจานละ ๒๕ บาท เท่านั้น ร้านนี้ลูกค้าจึงต้องมาเข้าคิวสั่งอาหาร รับอาหาร ชำระเงิน เลือกที่นั่ง รับประทานเสร็จต้องนำภาชนะ ช้อนไปเก็บในที่ที่จัดไว้ให้
คุณเรวรรณเปิดร้านจันทร์ถึงศุกร์ ขายจากเวลา ๑๐ น. ถึง ๑๔ น. ซึ่งส่วนมากจะขายหมดก่อนเวลา เรียกว่ามีเวลาบริหารจัดการเรื่องการขายเพียง ๔ ชั่วโมง เท่านั้น คุณเรวรรณบอกว่า ช่วงเช้า ช่วงเย็นต้องเปิดโอกาสให้พ่อค้า แม่ค้าละแวกนั้นมีโอกาสในการทำมาหากินบ้าง เราขายช่วงมื้อกลางวันก็พอ อย่าไปแข่งไปแย่งเขาเสียทั้งหมด รวมถึงไม่นำสินค้าอื่นหรืออาหารที่เข้าขายอยู่แล้วมาจำหน่ายขายแข่ง เช่น ส้มตำ ขนมหวาน มีแม่ค้ารถเข็นขายอยู่แล้ว แบ่งปันกันทำมาหากิน อยู่ด้วยกันได้ 
    
คุณเรวรรณใส่ใจอทุกอย่าง พยายามหาข้อมูลตอบรับจากลูกค้า ลูกค้าจึงมีทั้งพนักงานบริษัท นักธุรกิจ ข้าราชการบำนาญ กลุ่มชาวอาวุโสที่ใช้ร้านเป็นที่ชุมนุมพบปะกัน ผ่านไปได้ ๑ ปี เพจที่สนับสนุนเลิกการทำโครงการ แต่คุณเรวรรณยังคงไปต่อโดยใช้ประสบการณ์ในช่วงปีแรกเป็นแนวทางในการพัฒนา มีการทำเมนูพิเศษแปลกใหม่ให้ลูกค้าได้ลิ้มรส โดยเฉพาะอาหารโบราณเก่าแก่ หาทานได้ยาก ลูกค้าชื่นชอบทั้งรับประทานที่บ้านและซื้อกลับบ้าน ธุรกิจนี้จึงค่อยก้าวไปอย่างมั่นคง แม้รายได้ไม่วูบวาบ แต่ก็มั่นคงยั่งยืนและพร้อมที่จะก้าวต่อไป แล้ววันหนึ่ง ผู้จัดการธนาคารที่เคยปฏิเสธไม่ให้เงินกู้ก็แวะมาใช้บริการ คุณเรวรรณจึงถามว่า ท่านผู้จัดการจะมีข้อแนะนำด้านธุรกิจอย่างไร ควรทำธุกิจด้านไหนดี ผู้จัดการธนาคารตอบว่า ขายข้าวแกงแหละดีแล้ว
    
คุณเรวรรณสามารถทำร้านข้าวแกงที่ใครมองข้ามให้เป็นข้าวแกงธุรกิจ ขึ้นมาได้ก็ด้วยความมุ่งมั่น เอาใส่ ทำด้วยความจริงใจ มีใจรัก และมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล เป็นธุรกิจแบบพอเพียง ธุกิจในครอบครัว ในอนาคต หากคุณเรวรรณวางมือ น้องสาวก็สามารถดำนินการต่อได้ต่อไป จึงนับว่าเป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจและเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับเปลี่ยนเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

โดย:ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง