ชาวพิปูน เมืองนครฯ วันนี้พ้นภัยพิบัติ อุดมสมบูรณ์พูนสุข มีกิน มีใช้ มีขาย อย่างมั่นคง

“ผมเหลือเพียงคนเดียว พ่อ แม่ ลูกสองคน และภรรยาสูญหายไปกับสายน้ำจากเหตุการณ์น้ำหลากดินโคลนถล่มเมื่อปี 2531 ตอนนั้นกระแสน้ำซัดลงมารุนแรงมากทำให้บ้านพัง ทุกคนลอยตามน้ำกันหมด มันเป็นปาฏิหาริย์ผมจมน้ำไปครั้งหนึ่ง แล้วก็ลอยตามน้ำอีกประมาณสัก 1 กิโลเมตร จึงปีนขึ้นมาได้ ช่วงนั้นประมาณเวลาบ่ายสองโมง ท้องฟ้ามืดมิด เสียงน้ำซัดถล่มพร้อมขอนไม้ที่กระแทกกับวัตถุต่างๆ ดังสนั่น จนไม่ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือทั้งที่อยู่ห่างกันแค่ 3 วา ตอนนั้นผมอายุ 25 ปี จำเหตุการณ์ได้หมด แม้ปัจจุบันความทรงจำอาจเลือนหายไปบ้าง แต่เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ก็กระทบกระเทือนจิตใจอยู่ไม่น้อย ยากที่จะบรรยายจริงๆ”

นายสุรเชษฐ์ ผ่องภูมิพัฒน์  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านเขาพระ ตำบลเขาพระ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าเหตุการณ์อุกทกภัยที่ได้ประสบในครั้งนั้นให้ฟังทั้งน้ำตา และบอกว่า “ถ้าไม่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำทั้งที่คลองกะทูน และคลองดินแดง อุทกภัยที่เกิดขึ้นซ้ำอีกในปี 2539 และปี 2554 เหมือนปี 2531แต่มีความรุนแรงกว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจจะมากกว่าที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ที่สำคัญตอนนี้ทุกคนมีกินมีใช้มีความมั่นคงในอาชีพ เพราะน้ำสมบูรณ์และห่างไกลภัยพิบัติอีกด้วย”

สืบเนื่องจากเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ได้เกิดอุทกภัยบริเวณอำเภอฉวาง อำเภอพิปูน จ.นครศรีธรรมราช และอำเภอบ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี สร้างความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และที่ทำกินของราษฎรเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องหาทางป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่แม่น้ำตาปีตอนล่าง เป็นที่มาของการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขึ้นสองแห่งในอำเภอพิปูน คืออ่างเก็บน้ำคลองดินแดง ที่ตำบลเขาพระ และอ่างเก็บน้ำคลองกะทูน ในเขตตำบลกะทูน

อ่างเก็บน้ำคลองดินแดงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2546 มีลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 24 เมตร ยาว 2,260 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 60 ล้านลูกบาศก์เมตร มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่แม่น้ำตาปีตอนล่างในเขตตำบลเขาพระิปูน คือ อ่างเก็บน้ำคลองดินแดง  ซึ่งมีสภาพทั่วไปเป็นที่ราบในเขตป่าไม้ต้นน้ำลำธาร จึงเป็นแหล่งรับน้ำในช่วงฤดูฝน หากไม่มีระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีและเหมาะสมก็จะเกิดปัญหาน้ำหลากน้ำท่วม เช่นเมื่อครั้งเหตุการณ์ภัยพิบัติปี 2531

นอกจากจะช่วยป้องกันอุทกภัยอย่างได้ผลแล้ว อ่างเก็บน้ำคลองดินแดงฯ ยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรจำนวนประมาณ 9,900 ไร่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทานที่ดูแลการส่งน้ำให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง เจ้าหน้าที่การเกษตรดูแลส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งแนะนำการใช้สารชีวภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับผืนป่า อาทิ เชื้อราไตรโคเดอร์มา เมธาไรเซียม บิวเวอร์เรีย ทำให้ได้รับผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตก็ลดลง ทำให้มีรายได้มากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพเกษตรด้านอื่นๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การเลี้ยงโคพื้นเมือง โดยใช้พื้นที่ประมาณ 970 ไร่ ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำคลองดินแดงฯ สำหรับปลูกหญ้าอาหารสัตว์

นายอนุวัตร จำปาทอง เกษตรอำเภอพิปูน จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า แปลงเพาะปลูกของราษฎรได้รับน้ำประมาณ 70,000 ไร่ เป็นสวนยางพาราประมาณ 50,000 ไร่ ปาล์มน้ำมันประมาณ 4,000 ไร่ ในตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาจูงใจ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 7,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 7,000 ตันต่อปี ขายได้ราคา 90 – 100 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้มีเงินเข้าสู่อำเภอพิปูน ประมาณ 700 ถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี เกษตรกรมีความหวังและพึงพอใจต่ออาชีพการเกษตรซึ่งเหมาะสมกับพื้นที่เพิ่มขึ้น “ได้ส่งเสริมให้นำสารชีวพันธุ์เข้ามาใช้ป้องกันแมลงศัตรูพืช เช่น เชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราไตรโคเดอร์มา ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเกษตรกรได้รวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่ประมาณ 500 – 600 ไร่ มีเกษตรกร 60 ราย ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองผลผลิตขายให้ล้งในพื้นที่ และส่งออกไปประเทศจีน”

ทั้งนี้ และเพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน กปร. และกรมชลประทานจึงกำหนดแผนการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำเพื่อส่งน้ำให้ราษฎรในพื้นที่ตำบลเขาพระ ตำบลพิปูน ตำบลยางค้อม และตำบลควนกลาง อำเภอพิปูน ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานอีกกว่า 24,500 ไร่ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งจะสร้างประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรประมาณ 580 ครัวเรือน ราษฎร 2,800 คน รวมทั้งสนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี นอกจากนี้โครงการยังสร้างประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มเติม ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย