นายกฯ แจงไม่ประกาศภัยพิบัติภาคเหนือ เหตุปัญหา PM 2.5 ห่วงการค้าขายในพื้นที่ ขณะที่ค่าฝุ่นพิษทั่วไทย เกินมาตรฐาน 45 จังหวัด ภาคเหนือยังวิกฤติหนัก! พุ่งสูงทุบสถิติรอบใหม่ เกินค่ามาตรฐาน 24 เท่า

     ที่หอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา จ.พะเยา เมื่อวันที่ 19 มี.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 2/2567 ตามที่มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมาตรการลดหรือห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านที่พิสูจน์ได้ว่ามีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวกับการเผา ว่า ปัจจุบันไทยได้รับผลกระทบจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2530 เพื่อกำหนดนโยบายการนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นก็ขอให้เป็นไปตามข้อตกลง องค์การการค้าโลก(WTO)ระหว่างประเทศ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะต้องให้ตรงกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... ที่กำลังจะผ่านการพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ 
 

   ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุมมีการพูดคุยกันถึงเรื่องฝุ่นละอองหรือไม่ภายหลังจากเมื่อคืนวันที่ 18 มี.ค.มีฝนตก นายกฯ กล่าวว่า ในที่ประชุมครม.ไม่ได้มีการพูดคุยกัน เพราะทุกคนทราบหน้าที่ดีอยู่แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง เมื่อฝนตกลงมาก็น่าจะดีขึ้น แต่เราก็ยังทำงานกันต่อไป เมื่อถามถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวก่อนที่จะถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ส่วนเรื่องพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าที่ไม่ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพราะเป็นห่วงนักท่องเที่ยวนั้น ไม่ใช่  เราก็เป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ เรื่องการค้าขายภายใน ซึ่งเรามีมาตรฐานว่าถึงจุดไหนที่จะประกาศได้ หรือประกาศไม่ได้ เชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันช่วยบรรเทาไปได้เยอะพอสมควรจากปีที่แล้วจนถึงปีนี้  อย่างที่ตนเรียนว่าบางพื้นที่ลดไป 1 ใน 3 ถึง 2 ใน 3 ของค่าเฉลี่ย ซึ่งเรายังคงต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง

     วันเดียวกัน เว็บไซต์ cmuccdc.org ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รายงานจุดตรวจวัด PM 2.5 ณ เวลา 08.00 น. พบว่า สูงสุดอยู่ที่อำเภอเชียงดาว ตำบลปิงโค้ง 603 ไมครอน เช่นเดียวกับข้อมูลจาก ttps://www.iqair.com/th/thailand/chiang-mai ระบุ ณ เวลา 08.00 น. ค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 186 โดยความเข้มข้น PM2.5 ในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้เป็น 24.8 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลกและยังแนวมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีก
   

 ด้านสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ค่ามลพิษทางอากาศที่ปกคลุมภาคเหนือของไทยเวลานี้พบสารพิษแขวนลอยในมลพิษที่มีปริมาณเข้มข้นสูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ควรต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนในห้วงวิกฤตนี้อย่างทั่วถึง
   

 ขณะที่ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวัน ณ 07.00 น. สรุปดังนี้ ภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานในจ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.ปราจีนบุรี จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.อำนาจเจริญ จ.ชัยภูมิ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์  โดยภาคเหนือเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 45.3-158.6 มคก./ลบ.ม.
   

  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 40.7-77.9 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 28.0-53.6 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 2 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 21.8-43.9 มคก./ลบ.ม. ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 10.7-27.0 มคก./ลบ.ม. ส่วน กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ตรวจวัดได้ 22.2-36.5 มคก./ลบ.ม.
   

 ส่วนศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ประจำวัน เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตรวจวัดได้ 22.2-36.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าไม่เกินมาตรฐานทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพปานกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง