ทอ.ไทย จับมือ สิงคโปร์-สหรัฐฯ ร่วมฝึกผสม COPE TIGER เน้นการยุทธ์ทางอากาศ ขณะที่ ผบ.ทสส. เชื่อ สหรัฐฯ ไว้ใจไทย ส่ง F-35 ร่วมฝึกครั้งแรก เตรียมนำข้อมูลไปพัฒนากองทัพ ทำแผนรบร่วมเหล่าทัพปี 71-80
เมื่อวันที่ 19 มี.ค.67 ที่กองบิน 1 จ.นครราขสีมา กองทัพอากาศ เข้าร่วมการฝึกผสมโคปไทเกอร์ ประจำปี 2567 (COPE TIGER 2024) เป็นการฝึกผสมทางอากาศที่มีการสนธิกำลังทางอากาศใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการฝึก ที่กองบิน 1 จ.นครราชสีมา โดยมีการพัฒนารูปแบบการฝึกให้เข้ากับสถานการณ์การสู้รบในปัจจุบัน และมีการสมมติสถานการณ์เสมือนจริง ทั้งด้านการควบคุมและสั่งการ การฝึกยุทธวิธีการรบระหว่างเครื่องบินรบต่างแบบ การฝึกโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายภาคพื้นดินที่มีการต่อต้านจากกอาวุธของหน่วยต่อสู้อากาศยานภาคพื้น การฝึกด้านการข่าวกรองยุทธวิธีโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ และการให้การสนับสนุนของหน่วยสนับสนุนต่างๆ
สำหรับวัตถุประสงค์การฝึกครั้งนี้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถใช้อากาศยานแบบผสม และเพิ่มทักษะของผู้เข้าร่วมการฝึก รวมไปถึงการดำเนินกลยุทธ์ โดยเฉพาะการวางแผนทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกอีกด้วย
ไฮไลท์ปีนี้ มีเครื่องบิน F-35 ของสหรัฐฯ มาร่วมฝึกด้วยเป็นครั้งแรกเต็มรูปแบบ จำนวน 8 ลำ เดินทางจากฐานทัพสหรัฐในรัฐอลาสก้า นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังนำเครื่องบิน F-16 จำนวน 10 ลำ มาจากฐานทัพในเกาหลีใต้ มาร่วมฝึกกับ เครื่องบิน F-16 และ F-5 ของกองทัพอากาศ ไทย และเครื่องบิน F-15 ของกองทัพอากาศสิงคโปร์
ด้าน พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ผบ.ทสส.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมกองอำนวยการฝึกร่วม COPE TIGER และเยี่ยมชมเครื่องบิน F-35 ว่า รูปแบบการฝึก COPE TIGER มีประเด็นในเรื่องการใช้กำลังทางอากาศขนาดใหญ่ และฝึกเรื่องการรักษาความปลอดภัย การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ วันนี้มีความละเอียดมากขึ้นโดยใช้ทั้งเครื่องบินถ่ายภาพอากาศและใช้ระบบโดรนหรือ ไอเอสอาร์ มาผสมเป้าหมายการวิเคราะห์ทางอากาศ ทั้งหมดนี้ ตนก็กำลังเรียนรู้อยู่ โดยกองทัพไทยมีความจำเป็นต้องนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาในอนาคต
ส่วนการที่เครื่องบิน F-35 ของสหรัฐฯ มาฝึกมาครั้งแรกนั้น ถือว่ามีความไว้วางใจเรา ในฐานะที่เป็นพันธมิตรต่อกัน ทั้งในแง่ของการฝึกร่วม และส่วนที่เป็นสนธิสัญญา ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เรามีประเทศที่เป็นพันธมิตรและมีความไว้วางใจเรา รวมถึงสิงคโปร์ด้วย ที่นำเอา F 16 และ F15 มาร่วมฝึกด้วย
“วันนี้ตั้งใจมาเอาข้อมูลนำไปทำแผนพัฒนากองทัพ ปี 71-80 ตอนนี้กำลังก่อร่างสร้างตัวและพยายามทำอยู่ วันนี้สิ่งที่ผู้บัญชาการทหารอากาศทำอยู่ อยากให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นว่าเราจะนำกองทัพอากาศไปสู่คีย์เวิร์ดที่ว่า unbeatable AirForce”พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าว
เมื่อถามว่าความพร้อมของ กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยในการให้สหรัฐฯ ยอมขาย F-35 ให้เรานั้น พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเรื่องของการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อดูว่าในอนาคตข้างหน้า ทอ.จะมีฝูงบินใหม่กี่ฝูง เพื่อทดแทนของเดิม ส่วนรายละเอียดทางเทคนิคขอให้ทางกองทัพอากาศพูด ผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็มีลิมิตในการรับรู้ ซึ่งหลักๆวันนี้เรารับรู้เรื่องที่น่าดีใจดีใจ 2 เรื่องคือ การอำนวยการระหว่างเหล่าทัพในการรบ และประสบความสำเร็จในระบบต่างๆไปพอสมควร อีกส่วนหนึ่งคือระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สามารถเชื่อมโยงระบบป้องกันทางอากาศระหว่างเหล่าทัพได้ ตามแนวคิดของผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ต้องการสร้างกองทัพอากาศให้มีความเข้มแข็ง โดยเริ่มจากการเตรียมกำลังด้วยการฝึก และความพร้อมเชิงกายภาพ ซึ่งคือเครื่องบินรบ รวมทั้งต้องปฏิบัติงานร่วมกับมิตรประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบการควบคุมบังคับบัญชา ซึ่งตนได้ไปเยี่ยมชมในครั้งนี้ด้วย
ผบ.ทสส. กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าภูมิใจของกองทัพอากาศคือ การใช้ระบบดาต้าลิ้งค์ในการรบ ร่วมกับเหล่าทัพอื่นได้ หน้าที่ของกองทัพไทยคือการทำให้ระบบนี้กระจายไปสู่ทุกภาคส่วนของตัวกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สิ่งที่เห็นว่ามีพัฒนาการสูงมากถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ ระหว่างหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) ของ กองทัพบก กับ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ. ) ของกองทัพเรือ
“ผมคิดว่าถ้าเราสามารถจัดกำลังรบรวมกันได้ พี่น้องประชาชนชาวไทยจะได้กองทัพที่มีประสิทธิภาพ พร้อมปฎิบัติงานในการป้องกันประเทศที่มีขีดความสามารถสูงสุด” พล.อ.ทรงวิทย์ กล่าว
สำหรับการฝึกผสม COPE TIGER 2024 ในครั้งนี้ ถือเป็นการครบรอบ 30 ปี โดยมี นาวาอากาศเอก อานนท์ จารุสมบัติ รองผู้อำนวยการสำนักยุทธการและการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการ ฝึกผสมโคปไทเกอร์ 2024 ฝ่ายไทย, COL.Sebastian Chai เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสม COPE TIGER 2024 กองทัพอากาศสาธารณรัฐสิงคโปร์ และ COL.Jeffrey D.Shulman ผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสมฝ่ายกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศไทยนอกจากส่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์จากกองทัพอากาศแล้ว ยังได้จัดเจ้าหน้าที่จากกองทัพบก กองทัพเรือ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการฝึก
ขณะที่น.อ.อานนท์ จารุสมบัติ รองผู้อำนวยการสำนักยุทธการและการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการ ฝึกผสมโคปไทเกอร์ 2024 ฝ่ายไทย เปิดเผยว่า การฝึกในครั้งนี้เป็นการรวมตัวระหว่างกองทัพอากาศไทย กองทัพอากาศสหรัฐฯ และกองทัพอากาศสิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ในการปฏิบัติการทางอากาศของแต่ละชาติ นั่นหมายถึงว่าเวลาที่เราขึ้นไปทำการบิน จะมีภารกิจในด้านการป้องกันภัยทางอากาศ การโจมตีทางอากาศ รวมทั้งภารกิจทางภาคพื้น เช่น การควบคุมบังคับบัญชา การส่งกำลังบำรุง เป็นต้น ที่เราต้องพัฒนาขีดความสามารถตรงนี้เข้ามา ซึ่งการที่เราได้มาฝึกบินร่วมกัน ก็จะมีโอกาสที่ทำให้เรา เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานร่วมกัน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เราได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพื่อที่จะส่งเสริมความมั่นคงภายในภูมิภาค ปีนี้ครบรอบ 30 ปีอาจจะเป็นความบังเอิญก็ได้ที่สหรัฐได้นำ F-35 เครื่องบินขับไล่ยุคที่ 5 มา จริงๆแล้วกองทัพอากาศสหรัฐและกองทัพอากาศชาติพันธ์มิตรทั้งในนาโต้และนอกนาโต้ ก็เริ่มประจำการ F-35 อยู่แล้ว ซึ่งการที่เขานำเข้ามาก็แสดงให้เห็นว่ากองทัพอากาศไทย มีความพร้อมในการรองรับกับเครื่องมือที่มีความทันสมัยแบบนี้ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับการครบรอบ 30 ปี กองทัพอากาศสหรัฐฯ จึงได้ส่ง F- 35 มาเข้าร่วมการฝึก ซึ่งในปีนี้ได้สร้างธีมขึ้นมาว่า "Friendship Blue sky"
COL.Sebastian Chai ผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสม COPE TIGER 2024 กองทัพอากาศสาธารณรัฐสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ตนเองเคยเข้าร่วมการฝึก cope Tiger มาแล้วหลายครั้ง ครั้งแรกที่เคยเข้าร่วมเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งจากที่เข้าร่วมการฝึกมาช่วยให้เสริมสร้างทักษะในด้านต่างๆ สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนต่างๆได้ โดย กองทัพอากาศ ได้เข้าร่วมการฝึกในพื้นที่นี้ เป็นประจำทุกปี โดยคาดหวังว่าการฝึกในครั้งนี้จะได้รับการฝึกที่ดี เพราะว่าประเทศไทยมีพื้นที่การฝึกที่เหมาะสม มีพื้นที่ที่สามารถรองรับทั้งหมดของการปฎิบัติงานทั้งหมดได้ ซึ่งบางอย่างไม่สามารถทำได้ในสาธารณรัฐสิงคโปร์ แต่ที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือการได้รับประสบการณ์ที่ดี และเรียนรู้จากกองทัพอากาศไทย และกองทัพสหรัฐฯ อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันของทั้งสามประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
COL.Jeffrey D.Shulman ผู้อำนวยการกองอำนวยการฝึกผสมฝ่ายกองทัพอากาศสหรัฐฯ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วม Cope TIGer แม้ก่อนหน้านี้จะเคยเข้าร่วมการฝึกร่วม Cobra gold มาแล้ว ซึ่งเมื่อช่วงมื้อค่ำวานนี้ ได้คุยกับผู้อำนวยการการฝึกของไทยว่าตนเองประทับใจ ความมีน้ำใจวัฒนธรรมและคนไทยเป็นอย่างมาก และตนเองเคยได้ยินมาว่าการฝึกนี้มันดีมาก ซึ่งสหรัฐฯ ได้นำนักบินรุ่นใหม่ หาคนมาเข้าร่วมการฝึก จริงๆแล้วประเทศไทยมี พื้นที่ที่เหมาะสมกับการบิน ซึ่งการฝึกในครั้งนี้มีทั้งหมด 50 ถึง 60 ลำ ต้องใช้ระยะทางกว่า 100 ไมล์ ซึ่งไทยสามารถพาทั้ง 3 ประเทศ มารวมตัวกันในพื้นที่ได้ และประเทศไทยเป็นเจ้าบ้านที่ต้อนรับเราได้เป็นอย่างดี ซึ่งการฝึกร่วมกันในครั้งนี้นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี ของสหรัฐฯ ที่ได้มาเข้าร่วม
คำถามนาวาเอกเจฟฟรี่ย์ ดี. ชูลแมน ผอ. การฝึกร่วมทางอากาศ ฝ่ายสหรัฐอเมริกา เมื่อถามว่า ความคาดหวังจากการฝึกครั้งนี้ เป็นอย่างไร นาวาเอกเจฟฟรี่ย์ ดี. ชูลแมน กล่าวว่า เราเรียนรู้จากการฝึกครั้งนี้อย่างมาก เรานำนักบิน fighting jet รุ่นใหม่ๆหลายนายมาร่วมการฝึกนี้ เราคาดหวังอย่างมากกับการฝึก เราสามารถบินประสานร่วมระหว่างเครื่องบินได้ถึง 50-60 ลำในระยะการบินประมาณ 200 ไมล์และฝึกซ้อมในหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้การที่ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพการฝึกถือเป็นโอกาสดีสำหรับ 3 ประเทศที่มีโอกาสได้ฝึกร่วมกัน
เมื่อถามว่า มีความพร้อมและศักยภาพของกองทัพอากาศไทยในการฝึก นาวาเอกเจฟฟรี่ย์ ดี. ชูลแมน กล่าวว่า ตนบินเครื่องบินขับไล่มามากกว่า 2 ทศวรรษและไปทั่วโลกและกับประเทศพันธมิตรมากมาย กองทัพอากาศไทยเป็นกองทัพหนึ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมือชีพ ด้านวัฒนธรรม การเป็นเจ้าบ้าน รวมถึงความสามารถ ผมประทับใจมาก และ นักบินของพวกเราจะได้เรียนรู้การบินจากพวกเขาอีกมากมายในช่วงสัปดาห์หน้า
สำหรับการฝึก COPE TIGER มีจุดเริ่มต้นในปี 2526 เป็นการฝึกร่วมกับกองทัพอากาศสิงคโปร์ ภายใต้ชื่อรหัสการฝึก AIR THAISING โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพมาตลอดการฝึก ขณะเดียวกันกองทัพอากาศไทยก็ได้มีการส่งกำลังทางอากาศเข้าร่วมการฝึกร่วมกับกองทัพอากาศสหรัฐฯ และกองทัพอากาศมิตรประเทศอื่นๆ ณ ฐานทัพ CLARK ประเทศฟิลิปปินส์ ใต้ชื่อรหัส COPE THUNDER
ต่อมาในปี 2535 ประเทศฟิลิปปินส์ประสบปัญหาทางภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบ ทำให้ไม่สามารถทำการฝึก COPE THUNDER ได้อีกต่อไป จากนั้น 29 มิถุนายน 2536 มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการฝึกพหุภาคีหรือการฝึกหลายชาติ (MULTILATERAL EXERCISE) ระหว่าง กองทัพอากาศไทย กองทัพอากาศสิงคโปร์ กองทัพอากาศและนาวิกโยธินสหรัฐฯ โดยจัดการฝึกเป็นครั้งแรกในปี 2538 โดยใช้ชื่อรหัสว่า COPE TIGER 95 ณ กองบิน 1 และดำเนินการฝึกมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับการฝึกในครั้งนี้ ทางกองทัพสหรัฐฯ ได้เข้มงวดห้ามใช้มือโทรศัพท์มือถือบันทึกภาพเครื่องบิน F-35 โดยเฉพาะเรื่องของการไลฟ์สด โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน สังเกตการณ์อยู่โดยรอบ