ชุมชนริมแม่น้ำโขง จากน้ำหลาก น้ำท่วม และแห้งแล้ง วันนี้เพาะปลูกได้ดีด้วยแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับกับที่ดอนและลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกใกล้กับแม่น้ำโขง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวภูไทที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อนสงครามอินโดจีน ด้วยสภาพพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกอันเป็นอาชีพหลักของชาวภูไท ทำให้เกิดการขยายตัวเป็นชุมชนและหมู่บ้านขึ้น แต่เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำใหญ่ ช่วงหน้าฝนจึงมักเกิดน้ำหลากและท่วมขังในบริเวณที่ลุ่มต่ำตามแนวลำห้วยอยู่เป็นประจำ ส่วนช่วงหน้าแล้งก็ขาดแคลนน้ำในอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร เพราะขาดระบบเก็บกักน้ำและบริหารจัดการที่เหมาะสม

วันที่  20 พฤศจิกายน 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งดังกล่าว ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยกะเบาตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และกรมชลประทานดำเนินการก่อสร้าง แล้วเสร็จเมื่อปี 2533 เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เก็บกักน้ำได้ 5.070 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระบบส่งน้ำฝั่งซ้าย ความยาวรวม 9,700 เมตร สามารถช่วยเหลือราษฎรบ้านดงหมู ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม ให้มีน้ำใช้สำหรับใช้อุปโภคบริโภค และรองรับพื้นที่การเกษตรประมาณ 2,000 ไร่ รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนได้อีกด้วย

นายเขื่อน มาจานิตย์ รองประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกะเบาตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ก่อนมีอ่างเก็บน้ำราษฎรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกถั่วลิสงเนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วก่อนฤดูน้ำหลาก ส่วนหน้าแล้งไม่สามารถเพาะปลูกได้เพราะน้ำไม่เพียงพอ “ตั้งแต่มีอ่างเก็บน้ำห้วยกะเบาตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เก็บกักน้ำในช่วงหน้าฝนเอาไว้ไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงทั้งหมด มีระบบส่งน้ำไปยังแปลงเพาะปลูกของราษฎร ทำให้สามารถปลูกข้าวได้ เก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็ปลูกถั่วลิสงต่อ ผลผลิตทั้งข้าวและถั่วลิสงดีเพราะมีน้ำเพียงพอ นอกจากนี้มีการเลี้ยงปลาในบ่อดิน ทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งปี ปัจจุบันราษฎรในพื้นที่ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำนวน 90 ราย ร่วมบริหารจัดการน้ำกับกรมชลประทาน เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน”

วันที่ 23 กันยายน 2566 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายศุภรัชต์  อินทราวุธ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการฯ รับฟังผลการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำจากผู้แทนกรมชลประทาน พบว่าโครงการสามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ทุกประการ การนี้องคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นประโยชน์ในการต่อยอดขยายผลโครงการตามพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ราษฎรอย่างยั่งยืนต่อไป พร้อมมอบพันธุ์ปลาน้ำจืดให้แก่ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ในอ่างเก็บน้ำเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสำหรับราษฎรในพื้นที่

สำหรับจังหวัดนครพนม ปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือราษฎร รวม 119 โครงการ โดยเป็นโครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ จำนวน 86 โครงการ