วันที่ 18 มีนาคม 2567 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัย กกต.ที่มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง(ใบดำ) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) ของนางรัชนี พลซื่อ สส.ร้อยเอ็ด เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จากเหตุเมื่อครั้งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.ร้อยเอ็ด ปี2565 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 108 วรรคสอง พร้อมดำเนินคดีอาญากับนางรัชนี , นายเอกภาพ พลซื่อ อดีตสส.ซึ่งเป็นสามี และนายเอกรัฐ พลซื่อ บุตรชาย ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามพ.ร.บ.สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562มาตรา 65 (2) ประกอบมาตรา 126 ด้วย

สำหรับเหตุที่ กกต.มีมติดังกล่าว เนื่องจากการไต่สวนฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำพิพากษาสั่งให้มีการเลือกตั้งนายกอบจ.ร้อยเอ็ด ใหม่แทนนายเอกภาพ พลซื่อ ที่ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา

ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ช่วงเวลา10.00-13.00 น. พยานรวม 17 ปากให้ถ้อยคำยืนยันว่า นางรัชนี นายเอกภาพ นายเอกรัฐ เดินทางไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวที่จัดขึ้นใน 7 อำเภอของจังหวัดร้อยเอ็ด คือ อ.เชียงขวัญ อ.ธวัชบุรี อ.ทุ่งเขาหลวง อ. โพธิ์ชัย อ.โพนทอง อ.หนองพอก และอ.เมยวดี บุคคลทั้งสามได้มอบเงินสนับสนุนการจัดกิจกรรมให้แก่ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอละ10,000 บาท ทั้งที่ก่อนหน้านั้นทางชมรมฯก็ไม่ได้ขอรับบริจาคเงินจากฝ่ายการเมือง

ขณะร่วมงานนางรัชนี กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงว่าจะลงสมัครนายกอบจ.ร้อยเอ็ด แทนนายเอกภาพ สามีที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และขอฝากตนเองในการเลือกตั้งเป็นนายกอบจ.ร้อยเอ็ดที่จะมีขึ้นด้วย ส่วนนายเอกภาพได้พูดถึงการถูกเพิกถอนสิทธิและขอเสียงสนับสนุนให้นางรัชนีได้เป็นนายกอบจ.

ในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นางรัชนี ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งและในวันที่ 25 กันยายน 2565 ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ.ร้อยเอ็ด ซึ่งตามพ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 64 (4) ที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งกำหนดว่า ในกรณีมีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่จนถึงเวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง บทบัญญัติดังกล่าวจึงมีผลบังคับนับตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาสั่งให้มีการเลือกตั้งนายกอบจ.ร้อยเอ็ดใหม่ แทนนายเอกภาพ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า การที่นางรัชนี นายเอกภาพ และนายเอกรัฐ ได้ให้เงินแก่ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านที่จัดงานวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่นางรัชนี จึงเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562มาตรา 65(2) เป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้งนายกอบจ.ร้อยเอ็ดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนางรัชนี เกิดจากการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม ตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 108 วรรคสอง

อย่างไรก็ตาม คดีนี้ที่กกต.จะยื่นฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ คาดว่าจะไม่มีคำขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้นางรัชนี หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา108 วรรค4 เหมือนกรณียื่นคำร้องเอาผิดผู้บริหารท้องถิ่นอื่น เนื่องจากปัจจุบันนางรัชนี พ้นจากตำแหน่งนายกอบจ.ร้อยเอ็ดแล้ว และอำนาจสั่งให้สส.หยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีทุจริตเลือกตั้งเป็นอำนาจศาลฎีกา