วันที่ 16 มี.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำวานนี้ (15 มี.ค.67) นายพงศธร พร้อมขุนทด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่สายตรวจป้องกันและปราบปราม สายที่ 2-สายที่ 3 ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ,เจ้าหน้าที่ฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ พบ.2 หุบตะเคียนยักษ์ และเจ้าหน้าที่ กก. 5 บก. ปทส. โดยได้วางแผนเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบเข้ามาตัดหินในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด  

นายพงศธร กล่าวว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่ 6 นาย ออกลาดตระเวนตามแผนที่วางไว้ กระทั่งได้รับรายงานจากนายสุพิน สำแดงเดช หัวหน้าชุดลาดตระเวนบนเทือกเขาเขาสามร้อยยอดว่า ระหว่างลาดตระเวนพบกลุ่มคนขึ้นไปลักลอบตัดหินบริเวณถ้ำมังกร หมู่ที่ 5 บ้านเกาะไผ่ ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงรายงานให้รับทราบ จากนั้นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้ประสานขอกำลังเสริมจากเจ้าหน้าที่สวยตรวจป้องกันและปราบปราม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และตำรวจ ปทส. เพื่อป้องกันมวลชนซึ่งเป็นกลุ่มเครือญาติที่บริเวณสำนักสงฆ์เกาะไผ่  

จากนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ชุดลาดตระเวนบนเขา ได้แบ่งกำลังออกเป็น 2 ชุด บุกเข้าจับกุมกลุ่มบุคคลผู้ลักลอบตัดหินภายในถ้ำมังกรและพื้นที่ใกล้เคียงถ้ำ ได้ผู้กระทำผิด รวม 6 คน  ระหว่างการจับกุมได้รับรายงานจาก นายสุพิน สำแดงเดช หัวหน้าชุดลาดตระเวนว่า ระหว่างบุกจับผู้กระทำความผิดได้สั่งให้บุคคลดังกล่าว นอนลงกับพื้น แต่ทางผู้กระทำความผิดไม่ยอม มีบางคนใช้ก้อนหินขว้างปาเข้าใส่เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ทางเจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจใช้อาวุธปืนสั้นยิงขึ้นฟ้าหลายนัด เพื่อให้หยุดการต่อสู้กระทั่งยอมให้จับกุมได้รวม 6 คน ส่วนอีก 2 คน ได้วิ่งหลบหนี เข้าไปแอบซ่อนอยู่ภายในถ้ำมังกร  

เนื่องจากขณะนั้นใกล้เวลามืดค่ำเกรงจะเกิดความไม่ปลอดภัยกับเจ้าหน้าที่ จึงต้องควบคุมตัวลงมาได้เพียง 6 คน พร้อมของกลางเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการตัดหิน รวมทั้งอาหารจำนวนมากที่ใช้เป็นเสบียงอยู่บนเขาได้หลายวัน พร้อมอุปกรณ์เปลนอน  เดินลงจากเขานาน ประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งเบื้องต้นยังไม่สามารถแบกหินของกลางที่ถูกตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ ลักษณะตัดใหม่ ก้อนละประมาณ 40-50 กิโลกรัม เกือบ 10 ก้อน ลงมาจากเขาได้ทันเวลา แต่จะต้องขึ้นเขาไปนำหินของกลางลงมาอีกครั้งในวันถัดไป ซึ่งผู้กระทำความผิดทั้งหมด ได้คุมตัวมาสอบสวนเบื้องต้น ที่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด 

นายพงศธร พร้อมขุนทด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวอีกว่า ระหว่างการเข้าจับกุมนั้น ได้มีการบนทึกภาพถ่ายและภาพวีดีโอเป็นหลักฐานไว้แล้ว สำหรับการให้การเบื้องต้น จากผู้กระทำความผิด เป็นชาย 5 คน พบว่า เป็นชาวบ้านเกาะไผ่ ต.ไร่ใหม่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งหมดอ้างว่า ขึ้นเขาไปครั้งแรกหาเอาเศษหินก้อนเล็ก ๆ กลับลงมาแกะหินขายเป็นของที่ระลึก เช่น รูปสัตว์ เครื่องประดับ และพระพุทธรูปองค์เล็ก ขณะที่บางคนอ้างว่า ตามเพื่อนไปเพื่อไปเดินเที่ยวบนเขาเที่ยวป่าเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่สามารถจับได้ขณะที่ผู้กระทำความผิดบางคนกำลังใช้เครื่องตัดหญ้า ซึ่งเปลี่ยนใบเป็นใบเพชรสำหรับตัดหิน และรู้หลักที่ทำให้เครื่องดังกล่าวเสียงเบาขณะก่อเหตุ  รวมทั้งคนกลุ่มนี้ยังรู้จักเส้นขึ้นไปยังถ้ำมังกรเป็นอย่างดี เนื่องจากจุดนี้เป็นจุดที่หินมีชั้นสีที่ความสวยงาม และคาดว่าน่าจะมีออเดอร์จากลูกค้าเข้ามา จึงก่อเหตุดังกล่าว 

ส่วนผู้กระทำความผิดอีก 1 ราย อ้างว่า เป็นผู้สื่อข่าวสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง  และไม่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดทั้งหมด แต่มาทำบุญที่สำนักสงฆ์ด้านล่างและเดินขึ้นไปเที่ยวด้านบน รู้ว่าเป็นเขตอุทยานฯ แต่ไม่รู้ว่าผิดที่ขึ้นไป โดยได้ส่งบัตรนักข่าวให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดได้ดูเป็นหลักฐานด้วย  แต่ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากด้านบนเทือกเขาสามร้อยยอด ไม่ได้เปิดให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวแต่อย่างใด บุคคลอื่นหรือนักท่องเที่ยวจึงไม่สามารถขึ้นไปได้ อีกทั้งบริเวณดังกล่าวบางจุดมีความชัน และอันตราย ใช้เวลาเดินไปกลับ 5-6 ชม.

หากเป็นบุคคลที่ไม่ชำนาญ หรือไม่เคยขึ้นเขา จะต้องหลงทาง และใช้เวลาขึ้นลงนานมาก แต่พวกที่ลักลอบขึ้นไปตัดหินจะรู้เส้นทาง  และวางคนไว้ตามจุดเพื่อคอยดูต้นทาง ว่ามีเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนหรือไม่

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ สามารถ จับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบตัดหินได้ มากถึง 7 คน หลบหนีไปได้ 2 คน ที่บริเวณถ้ำมังกรเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้ผู้กระทำความผิดคนอื่นเกรงกลัวว่าเจ้าหน้าที่เอาจริง เงียบหายไปนานหลายเดือน และเริ่มกลับมาลักลอบก่อเหตุอีกในครั้งนี้ 

สำหรับหินบนยอดเขาสามร้อยยอดนั้น ชาวบ้านในพื้นที่มีความเชื่อว่า เป็นหินพระธาตุ มีพุทธคุณและมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว อีกทั้งเนื้อหินยังมีสีสันและลวดลายเฉพาะตัว ในอดีตนิยมนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปหรือเครื่องประดับขาย ได้ราคาสูง แต่เนื่องจากผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ จึงไม่สามารถตัดหินในเขตอุทยานฯ ได้ 

อย่างไรก็ตาม หลังรวบรวมหลักฐานและทำบันทึกของกลางแล้ว ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้กระทำความผิดทั้ง 6 ราย ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (1) (2) (6) มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 44 มีความผิดทั้งเก็บนำพาหรือแผ้วถางฯ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 4 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งบทลงโทษ กรณีเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาติ  และได้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวน สภ.สามร้อยยอด เพื่อสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดที่หลบหนีไปอีก 2 คนว่าเป็นบุคคลใด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป