วันที่ 16 มีนาคม 2567 นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการดำเนินการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 152 ซึ่งคาดว่า จะดำเนินการอภิปราย ภายในวันที่ 3 – 4 เมษายนนี้ว่า ถึงแม้ว่า เวลาในการอภิปรายจะมีเพียงแค่ 2 วัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนติดตามทวงถามและมีเรื่องคาใจเกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก แต่ทางฝ่ายค้านและพรรคประชาธิปัตย์ก็จะทำหน้าที่ในการอภิปรายฯ อย่างดีที่สุด
ทั้งนี้ ประเด็นที่ทางพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการอภิปรายนั้น จะมีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ ก็คือ ในเรื่องของนโยบายที่มีการประกาศเอาไว้อย่างชัดเจนในคำแถลงนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งนับจากวันแถลงนโยบายในวันที่ 11 กันยายน 2566 จนถึงตอนนี้ ผ่านไป 6 เดือนแล้ว กลับพบว่า นโยบายที่เป็นเรือธงสำคัญอย่างการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต นั้น กลับมีความคืบหน้าเพียงแค่ซื้อเวลาเพื่อหาแพะรับบาป
และที่ตนย้ำมาตลอดว่า เสียงสะท้อนจากประชาชนจริงๆ นั้น พวกเขาต้องการเงินสดมากกว่าเงินในอากาศที่ต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอนกว่าที่จะใช้งานได้จริง รวมทั้ง นโยบายอื่นๆ ที่ยังล้มเหลวในทางปฏิบัติ ต่อมา ในเรื่องของความเสมอภาคที่ทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐนั้น ปรากฏว่า สิ่งที่สังคมรับรู้กันทั่วไปก็คือ มีการใช้อำนาจทุกรูปแบบเพื่อเอื้อให้นักโทษคนหนึ่งมีสิทธิพิเศษเหนือกว่านักโทษคนอื่นๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งขัดกับสิ่งที่รัฐบาลประกาศว่า จะดำเนินการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ
เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ และประเด็นที่สำคัญที่ตนและทางฝ่ายค้านสงสัยมากที่สุดก็คือ ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อเศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากเท่าที่สังเกตก็คือ ตำแหน่งสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีนั้น ตนเชื่อว่า นายเศรษฐา ไม่ได้เป็นคนที่คัดเลือกมาเอง แต่น่าจะเป็นโควตาของบรรดานายใหญ่นายหญิงและนายน้อยภายในพรรค อีกทั้ง ยังมีข้อครหาว่า การตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ต่างๆ นายเศรษฐา น่าจะต้องรอให้ผู้มีอำนาจตัวจริง เป็นคนสั่งการลงมา จนเป็นที่มาว่า ตกลงแล้วประเทศไทย มีนายกรัฐมนตรีกี่คนกันแน่
“ดังนั้น ทางฝ่ายค้านและพรรคประชาธิปัตย์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ เพื่ออภิปรายสอบถามไปยังรัฐบาล โดยหวังว่า รัฐบาลจะมีคำตอบให้ทางสภาและประชาชน ได้ความกระจ่างและเป็นที่พอใจ ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการสอบถามอีกมากมาย เช่น ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ขณะนี้มีความรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยไม่ใช่เป็นภัยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น
ประเด็นเรื่องสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมองว่า กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดินออกจากสนามบินจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวออกมานั้น จำเป็นจะต้องได้รับคำตอบจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพราะการปล่อยให้นักโทษตามคำพิพากษาคนหนึ่ง มีสิทธิพิเศษเหนือกว่ามนุษย์ จนถูกเรียกเป็น 'นักโทษเทวดา' ถือว่า รัฐบาลเองเป็นผู้สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับคนในสังคมที่ปฏิบัติตนตามกฎหมาย และทำลายหลักนิติรัฐอย่างชัดเจน
ปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศว่า เป็นรัฐบาลที่คิดใหญ่ทำเป็น แต่เห็นว่า บรรดากุนซือเศรษฐกิจของรัฐบาล พยายามสร้างมายาคติให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหา จึงจำเป็นต้องมาแจกเงินดิจิทัลวอลเลต เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีช่วยมาตอบคำถามที่ทาง สส.พรรคฝ่ายค้านได้เตรียมการอภิปรายเอาไว้ เพราะถ้าไม่มาหรือมาแล้วแต่ตอบไม่ตรงคำถามหรือได้คำตอบไม่ชัดเจน รัฐบาลก็จะต้องรับผลสะท้อนจากประชาชน ด้วยความรู้สึกที่ประชาชนเริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย” นายพิทักษ์เดช กล่าว