นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเน็กซ์ พอยท์ จำกัด(มหาชน) หรือ NEX ผู้ผลิตยานยนต์ขนส่งพลังงานไฟฟ้ารายใหญ่ เปิดเผยภายหลังการส่งมอบรถหัวลากพลังงานไฟฟ้า(EV Tractors)ของ NEX ให้กับบริษัทจีซีเอ็ม พีทีเอ (GCM-PTA) ผู้ผลิตและจำหน่ายกรดเทเรพธาลิกบริสุทธิ์ (PTA) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตขวดโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต(PET)ว่า NEX เริ่มส่งมอบรถไฟฟ้าคันแรกให้แก่ลูกค้าเมื่อต้นปี 2566 ผ่านไป 1 ปีขณะนี้เราส่งมอบรถพลังงานไฟฟ้าประเภทต่างๆไปแล้วกว่า 4,000 คัน และในปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายรถไว้ที่ 5,556 คัน ซึ่งยังมีออร์เดอร์สั่งซื้อค้างอยู่ 2,757 คัน ในขณะที่โรงงานของ NEX ออกแบบมาให้มีกำลังการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ถึงปีละประมาณ 9,000 คัน จึงนับว่าเป็นการเติบโตที่น่าภาคภูมิใจ ล่าสุด NEX ได้ส่งมอบรถหัวลากพลังงานไฟฟ้าให้กับบริษัทจีซีเอ็ม พีทีเอ เพื่อนำไปใช้ในการขนส่งสินค้า และมีป้าหมายที่จะเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100%ในอนาคต

นายคณิสสร์ กล่าวว่า การนำรถหัวลากพลังงานไฟฟ้ามาใช้จะช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น สหภาพยุโรป ซึ่ง NEX พร้อมสนับสนุนพันธมิตรและผู้ประกอบการของไทยให้เกิดกระบวนการจัดการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน คืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่เด็กๆและสังคมไทย ที่สำคัญเป็นการช่วยกันขับเคลื่อนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero emissions)ภายในปี 2065 ได้ตามเป้าหมายของประเทศ

ด้านนายเกษม ลีวงศ์เจริญ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทจีซีเอ็ม พีทีเอ (GCM-PTA) กล่าว ว่า บริษัทฯตระหนักดีว่าภาคการขนส่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในสัดส่วนมากที่สุดที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งในส่วนของ GCM-PTAก็มีกระบวนการผลิตและงานด้านขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนถึงปีละประมาณ 2.5 แสนตัน อีกทั้ง PTTGC ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ GCM-PTA ก็มีเป้าหมายชัดเจนในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero emissions)ในปี 2065 ซึ่งตนและทีมงานในบริษัทจึงเห็นตรงกันว่า การดูแลรักษาโลกใบนี้เป็นหน้าที่ของทุกคน หากใครช่วยทำอะไรได้ก็ควรทำทันที ดังนั้นทางบริษัทจึงได้มีการหารือกับบริษัทวารุกะ 888 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งภาคตะวันออก และเห็นตรงกันว่าควรมีการนำรถหัวลากพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการขนส่งกรด PTA ของบริษัท เพื่อให้มีส่วนช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

นายเกษม กล่าวต่อไปว่า GCM-PTA เป็นบริษัทแรกที่นำรถหัวลากไฟฟ้ามาใช้ในการขนส่งกรด PTA ซึ่งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในระยะเริ่มต้นทางบริษัทวารุกะ 888 ได้จัดหารถหัวลากพลังงานไฟฟ้ายี่ห้อ NEX มาให้บริการขนส่งกรด PTA ในระยะทางไม่เกิน 200 กิโลเมตร หลังจากนั้นจะมีการประเมินประสิทธิภาพเป็นระยะ เชื่อว่าภายใน 4-5 ปี บริษัทอาจใช้บริการขนส่งที่เป็นรถพลังงานไฟฟ้าได้ทั้ง 100% ซึ่งอยากเห็นผู้ประกอบการอื่นๆ หันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้าในการขนส่งเพื่อช่วยกันดูแลโลกใบนี้ไปด้วยกัน

“ผมเชื่อว่าปัจจุบันทุกคนมีใจอยากจะช่วยกันดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่การนำรถหัวลากพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการขนส่งเป็นเรื่องใหม่ หลายคนยังลังเล โดยเฉพาะเรื่องของค่าใช้จ่ายต้นทุนแพง ซึ่งผมอยากบอกว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่านก็ต้องเจอกับความเหนื่อยยากเป็นธรรมดา แต่ในระยะยาวจะคุ้มค่าแน่นอน ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายจากค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาที่ลดลง ทางบริษัทGCM-PTA จึงขอเป็นแนวหน้าทำให้ทุกคนเห็นว่า เรื่องนี้เป็นไปได้จริง”