ราม  วัชรประดิษฐ์ พระอัฎฐารส เป็นพระพุทธรูปโบราณ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรสุโขทัย ก่อนที่จะรวมเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พุทธลักษณะจะเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่สูงตระหง่าน เป็นเอกลักษณ์แสดงถึงอิทธิพลเชิงช่างของสุโขทัย แต่ให้รายละเอียดและความงดงามสมบูรณ์สู้พระนั่งของสุโขทัยได้ไม่เต็มที่นัก ในศิลาจารึกสุโขทัยกล่าวถึงว่า พระยืน สมัยสุโขทัย
..."เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้ มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทาน (ให้ทาน:ผู้เขียน) แก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฏกไตรหลวกกว่าปู่ครูทั้งหลายในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา ในกลางอรัญญิกมีพิหารอันหนึ่งบนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารสอันหนึ่งลุกยืน ...”
พระยืน สมัยสุโขทัย จากเนื้อความแสดงให้เห็นว่า สุโขทัยมีเขตอรัญญิกหรือวัดป่าทางทิศตะวันตกของตัวเมือง และรับเอาสังฆราช ปราชญ์ผู้รู้อันได้แก่ภิกษุทั้งหลายมาเป็นแม่แบบจากเมืองนครศรีธรรมราช และทางด้านตะวันตกนี้เองมีเขาสะพานหิน ที่สะพานทำด้วยหินชนวนอันเกิดจากธรรมชาติและฝีมือของมนุษย์ ทอดยาวขึ้นไปบนยอด มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และบนสุดมี “พระอัฎฐารส” ประทับยืน เมื่อมองลงมาจะเห็นทัศนียภาพเมืองสุโขทัยอย่างกว้างไกล ซึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสนำนิสิตทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศขึ้นไปศึกษาหาความรู้มากมายหลายครั้ง พระยืน สมัยสุโขทัย มาถึงข้อสันนิษฐานของข้าพเจ้าเองเกี่ยวกับ ‘พระอัฎฐารส’ ตีความตามนามได้ว่า" อัฎฐะ” แปลว่า แปด เช่น เครื่องอัฎฐบริขารของพระภิกษุสงฆ์ 8 อย่าง รวมกับ “รส” ซึ่งเข้าใจว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “ทศ” แปลว่า สิบ รวมความแล้วหมายถึง พระยืนสูงถึงสิบแปดศอก เข้าใจว่าเป็นศอกคนโบราณหรือการกะระยะของช่างที่สร้างบางองค์จึงสูงไม่เท่ากันนัก  ข้อสันนิษฐานประการต่อมาก็คือ ทำไมชาวสุโขทัยจึงสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ แล้วไม่ได้สร้างเฉพาะในเมืองสุโขทัยเท่านั้น หากแต่สร้างไปทั่วในเขตพระราชอำนาจสุโขทัย พระอัฎฐารส วัดใหญ่ พิษณุโลก มีเค้าเงื่อนว่า องค์พระอัฎฐารสนี้น่าจะมีวิวัฒนาการจากรอยพระพุทธบาทที่พบเห็นอยู่หลายองค์ในราชอาณาจักร แล้วแต่ละพระบาทมีขนาดใหญ่โต คนจึงเกิดจินตนาการว่ารอยบาทพระพุทธองค์ยังใหญ่โตขนาดนี้ แล้วองค์จริงของท่านจะใหญ่ขนาดไหน ซึ่งสุโขทัยช่วงนั้นพระพุทธศาสนาเจริญอย่างสูงสุด จึงจินตนาการสร้างพระยืนขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากว่าพระประเภทนี้ในแถบอัฟกานิสถาน อินเดีย หรือเส้นทางสายไหม มักจะสร้างหรือแกะอิงภูเขา แต่สุโขทัยไม่มีภูเขาให้แกะ เลยต้องสร้างเครื่องรองรับด้านหลังไม่ให้องค์พระล้มครืนลงมา จึงปรากฏในรูปอาคารที่เราเรียกว่า “คันฐกุฎี” กล่าวคือ ลักษณะคล้ายๆ มณฑป แต่มีขนาดแคบมาก ล้อมรูปปั้นพระพุทธองค์เอาไว้ อันคันฐกุฎีนี้จะทำประตูเล็กๆ ไว้ด้านหน้า แต่เดิมมีเครื่องยอด ปัจจุบันปรักหักพังไปหมดแล้ว ชาวต่างประเทศบางคนเคยถามว่า ทำไมต้องให้พระมาอยู่ในสถานที่แคบเล็กดูอึดอัดเช่นนี้ ซึ่งสามารถตอบได้ว่า ‘คันฐกุฎี’ ถือเป็นที่สงบของพระพุทธองค์ โดยมิประสงค์จะให้ผู้ใดมารบกวน และไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก ซึ่งความจริงแล้ว ผูกกันกับโครงสร้างที่ต้องค้ำยันองค์พระพุทธรูปที่มีขนาดสูงใหญ่ไว้ด้วย และไม่แม้แต่พระยืนหากพระนั่งมีขนาดใหญ่ก็จะทำคันฐกุฎีในลักษณะเดียวกัน เช่น พระอจนะ ที่ วัดศรีชุม เป็นต้น พระยอดอัฎฐารส   พระอัฎฐารส เป็นพระที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าและความรุ่งเรืองทางด้านพุทธศิลป์ของสุโขทัย พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงมักเสด็จไปนมัสการ เมื่อวันเพ็ญเดือนออก หรือ วันพระสำคัญต่างๆ เข้าใจว่า จะมีการสร้างมาตั้งแต่ก่อนสมัยพระมหาธรรมราลิไท แต่มารุ่งเรืองมากในสมัยของพระองค์ ถึงขนาดเมื่อทรงสร้าง ‘พระพุทธขินราช’ ที่เมืองพระพิษณุโลกแล้ว ยังโปรดให้สร้างวิหารเก้าห้องทางด้านหลัง ประดิษฐาน ‘พระอัฎฐารส’ ก่ออิฐถือปูนด้วย (สำหรับ พระอัฏฐารส ที่เห็นในปัจจุบัน บางส่วนขององค์พระโดยเฉพาะพระเศียร พระพักตร์ เป็นส่วนที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะก่อนหน้านี้ องค์พระได้ถูกทำลายจนเสียหาย การซ่อมแซมในครั้งนั้น ทำให้ความงดงามของพระพุทธรูปเดิม ซึ่งเป็นศิลปะสุโขทัย สูญเสียไปโดยสิ้นเชิง)   พระยอดอัฎฐารส และ พระอัฎฐารส ที่ วัดใหญ่ พิษณุโลก นี่เอง ในระยะต่อมาเกิดชำรุดหักพังลงมา จึงพบพระพิมพ์เนื้อโลหะค่อนข้างแกร่งเรียกกันว่า “พระยอดอัฎฐารส” มีลักษณะเป็นพิมพ์ 2 หน้า องค์พระบางส่วนด้านหน้าประทับยืนเฉกเดียวกับ ‘พระอัฎฐารส’ หากแสดงลักษณะการลีลาประทับยืนอยู่บนฐานเขียง มีเส้นกรอบโดยรอบเป็นเม็ดไข่ปลา ด้านหลังเป็นองค์พระนั่งปางสมาธิในซุ้มระฆังเรียกกันว่า ‘ซุ้มอรัญญิก’ นอกจากนั้นยังมีพิมพ์เล็กลักษณะเหมือนกันแต่ขนาดย่อมลงมา ทั้งหมดเป็นพระเนื้อชินเขียว (เกิดจากคณาจารย์เล่นแร่แปรธาตุ) มักเห็นไขไข่แมงดาขึ้นเกาะเต็ม เข้าใจว่าคงจะบรรจุกรุหลังการสร้างพระอัฎฐารส และขอเตือนว่าเนื้อชินเขียวแพร่ระบาดเหลือเกิน ที่เห็นเล่นได้ก็จะมี กรุยอดอัฎฐารส วัดใหญ่ และมีพบชินเขียวที่ พิจิตร และพะเยาบ้าง ส่วนที่เล่นได้อีกพิมพ์หนึ่งได้แก่ พระร่วงทรงเกาะสุโขทัย   วิธีการพิจารณานั้น เนื่องจากองค์พระลางๆ เลือนๆ ให้สังเกตความเก่าให้เป็น กล่าวคือ ขอบไม่คม หากมีรอยกะเทาะในเนื้อ จะเห็นเป็น ‘เนื้อเก่าไม่มันวาว’ นอกจากนั้นให้ดู ‘สนิมไข’ ซึ่งจะฝังแน่นอยู่ตามผิวเป็นเม็ดสีขาวเต่งตึงพอกไปพอกมา บางคนเรียก ‘สนิมไข่แมงดา’ ส่วนของปลอมนั้นจะไม่เป็นเม็ดเต่งทับไปทับมาส่วนใหญ่จะทำเป็นไขขาวๆ คลุมทั่วองค์พระครับผม