สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
อาทิตย์นี้เราจะมาพูดคุยถึงแนวทางในการพิจารณาเอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานแซม นับเป็น พิมพ์ที่ 4 ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ตระกูลพระสมเด็จ ที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) โดยได้บรรจุกรุไว้ในองค์พระเจดีย์วัดบางขุนพรหม
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานแซม จะมีพุทธลักษณะเหมือน พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ฐานแซม ยิ่งเป็นองค์ที่ไม่มีขี้กรุเลยจะมีความแตกต่างเพียงรายละเอียดแม่พิมพ์บางจุดเท่านั้น เอกลักษณ์เฉพาะของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานแซม คือ พื้นที่ด้านบนขององค์พระจะตัดกว้างกว่าพื้นที่ด้านล่าง
เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานแซม
- เส้นขอบแม่พิมพ์ทั้งสี่ด้าน นูนหนา
- เส้นซุ้มครอบแก้วหนา
- พระเกศเรียวยาวเหมือนปลียอดพระเจดีย์
- พระพักตร์เป็นรูปไข่ผ่าซีก
- ปรากฏพระกรรณทั้งสองข้างเป็นเส้นตรง ยาวมาจดพระอังสา ยอดพระกรรณข้างขวาขององค์พระสูงกว่าข้างซ้าย
- เส้นสังฆาฏิวิ่งเป็นคู่จากพระอุระมาจดฝ่าพระหัตถ์ ดูคล้ายร่องอก
- พระเพลา (หน้าตัก) มีลักษณะคล้ายเลข 8 แนวนอน ปรากฏพระบาทขวาซ้อนพระบาทซ้ายรางๆ
- หัวฐานชั้นที่ 3 ด้านขวาขององค์พระจะนูนต่ำหว่าด้านซ้าย
- เส้นแซมใต้ฐานชั้นที่ 3 นูนชัด
- หัวฐานชั้นล่างสุดด้านขวาขององค์พระตัดเป็นรอยเฉียงปลายแหลม ส่วนด้านซ้ายตัดเป็นรอยป้าน
- พื้นที่องค์พระด้านล่างจะแคบกว่าด้านบน
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานแซม มีพิมพ์ด้านหลัง 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หลังสังขยา และ พิมพ์หลังครูดปาด ส่วนพิมพ์ด้านหน้า แบ่งเป็นพิมพ์ย่อย 3 พิมพ์ คือ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานแซม พิมพ์ที่ 1 พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานแซม พิมพ์ที่ 2 และ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ฐานแซม พิมพ์ที่ 3
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ไม่ว่าจะเป็นพระกรุเก่า หรือพระกรุใหม่ พุทธคุณก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ด้วยเหตุที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เช่นกันครับกระผม