ลีลาชีวิต/ทวี สุรฤทธิกุล

คนบางคนยอมรับชะตากรรมของตนโดยดี แต่หลายคนก็ต่อสู้ดิ้นรนและพยายามเปลี่ยนแปลงความทุกขเวทนานั้น

ไพลินเคยคิดว่าการมีชีวิตอยู่คือการ “ชดใช้กรรม” ดังนั้นแม้จะเจอกับความยากลำบากแสนสาหัสอย่างไร เธอก็ไม่เคยบ่นและก้มหน้าก้มตารับเอาความทุกข์ทรมานเหล่านั้นเข้ามา นั่นคือชีวิตตั้งแต่ที่เธอเริ่มจำความได้ จนถึงเมื่อเธอต้องฝ่าฟันจนได้เรียนหนังสือมาจนจบชั้นมัธยมนั้น แต่มันช่างตรงกันข้ามกับชีวิตในวิทยาลัย ที่เธอพบว่าแท้จริงนั้นมนุษย์มีอิสรเสรี ขึ้นอยู่กับความสามารถ ความพยายาม และแข่งขันเอาชนะ ซึ่งเธอคิดว่าเธอก็มีสิ่งเหล่านี้เหมือนกับคนอื่น ๆ เช่นกัน

เชียงใหม่เป็นเมืองที่ใหญ่และเจริญกว่าจังหวัดที่เธอเติบโตจาก ใน พ.ศ. 2520 ที่เธอมาเรียนที่วิทยาลัยครู เชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางหลักของภาคเหนือ ทั้งทางด้านศูนย์ราชการและการศึกษา ศูนย์เศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม แต่ที่โดดเด่นคือการท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลกหลั่งไหลมาที่เชียงใหม่เป็นจำนวนมากตลอดปี โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์และลอยกระทง ซึ่งที่บ้านของเธอก็มีเทศกาลทั้งสองนี้ แต่ที่เชียงใหม่ดูจะเป็น “มหกรรม” ทั้งยิ่งใหญ่และอลังการมากกว่า รวมทั้งมีการเสริมแต่งให้เป็นที่ชอบใจแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น มีการประกวดนางงามในคืนลอยกระทงที่หนาวเหน็บ ที่ไม่เพียงแต่จะแต่งชุดพื้นเมืองเข้าประกวดแล้ว ยังให้แต่งชุดว่ายน้ำให้ตากลมหนาวในคืนตัดสินด้วย (ช่วงนั้นมีการประกวดอยู่หลายปีภายหลังมีการวิจารณ์กันมากก็ได้ยกเลิกไป) ทำนองเดียวกับประเพณีสงกรานต์ ก็มีการรดน้ำกันเป็นเวลาหลายวัน จากเดิมที่จะรดแต่ในวันเนาว์ที่ทุกคนไปสรงน้ำพระพุทธรูปกันที่วัด แล้วจึงมารดน้ำกันและกัน รวมทั้ง “รดน้ำดำหัว” ขอพรผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้น (และการรดน้ำกันคราวละหลายวันก็กลายเป็น “ธรรมเนียมใหม่” ไปทั้งประเทศ รวมถึงที่มีการรดน้ำไปทั่วทุกบริเวณ รวมถึงนั่งรถบรรทุกน้ำไปสาดกันตามท้องถนนอีกด้วย)

เธอคิดว่าเธอเริ่มจะเป็นผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่ที่เธอรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ และคนอื่น ๆ มักจะมองสิ่งต่าง ๆ และผู้คนรอบข้างด้วยความห่วงใย บ้างก็ตำหนิพร่ำบ่น บ้างก็แนะนำติติง อย่างที่เมื่อเธอเป็นเด็ก ๆ ก็เรียกอาการแบบนี้ว่า “จู้จี้จุกจิก” ที่เริ่มจากความรำคาญในปัญหาต่าง ๆ และอยากจะเอาชนะหรือแก้ไขปัญหานั้น ซึ่งในตอนที่เธอเรียนในวิทยาลัย อาการดังกล่าวก็เกิดอยู่เป็นประจำ และเพิ่มระดับอาการที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่เธอมองการเติบโตของเมืองเชียงใหม่ด้วยความห่วงใยนั้น

ไพลินเลือกที่จะเป็นครูวิทยาศาสตร์ แต่เธอก็สนใจในวิชาด้านสังคมอยู่ด้วย เธอจึงเลือกเรียนสังคมวิทยาเป็นวิชาโท ในวิชานี้เองที่ทำให้เธอเกิด “ความรักในมนุษย์” เพราะนักสังคมวิทยาเชื่อว่า มนุษย์ไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ การมารวมกลุ่มกันจึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการอยู่รอดและพัฒนาไปด้วยกัน ดังจะเห็นได้ว่า ที่ใดที่มีความเจริญก็คือที่ที่มีคนมาอยู่ด้วยกันมาก ๆ คนเหล่านั้นได้ทำงานด้วยกัน ได้ผลผลิตอะไรก็ได้เป็นจำนวนมาก กินไม่หมดก็เอาไปขาย การค้าก็เจริญรุ่งเรือง มีปัญหาอะไรก็ช่วยกันแก้ไข มีการคิดค้นและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้สังคมเจริญขึ้นเรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกับสังคมที่ล้าหลัง มักจะอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ต่างคนต่างอยู่ หรือเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขาดกำลังในการรักษาพื้นถิ่นพื้นที่ ถ้ามีปัญหาใหญ่ก็แก้ยากเพราะกำลังคนน้อย ฯลฯ ซึ่งเวลาที่อาจารย์บรรยายไป ไพลินก็คิดตามไป ทำให้เธอนึกถึงสภาพของคนในเมืองที่มีคนอยู่กันมาก ๆ กับคนบนภูเขาที่อยู่กันกระจัดกระจาย แล้วเธอก็สรุปขึ้นง่าย ๆ ว่า “นี่เองที่ชาวเขาไม่พัฒนา”

ในปีสุดท้าย วิทยาลัยให้นักศึกษาเลือกกิจกรรมที่จะไปออกสอน หรือที่เรียกว่า “การฝึกสอน” ไพลินเลือกไปสอนที่อำเภอจอมทอง โรงเรียนที่เธอไปสอนอยู่เชิงภูเขาบนเส้นทางที่จะไปดอยอินทนนท์ มีนักเรียนที่เป็นชาวเขามาเรียนด้วยหลายสิบคนในชั้นเรียนต่าง ๆ  ซึ่งในชั้นที่เธอสอนก็มีอยู่เกือบสิบคน โดยนักเรียนที่เป็นชาวเขาจะมีชีวิตและการแต่งกายดูลำบากยากจนกว่านักเรียนในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด เธอมักจะยกตัวอย่างชีวิตของตัวเธอเองให้เป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนชาวเขาว่า เธอก็มาจากพื้นที่ทุรกันดารมาก ๆ เหมือนกัน แม้จะไม่ใช่ชาวเขา แต่ก็ลำบากยากจนกว่าเพื่อนนักเรียนคนอื่น ๆ ที่อยู่ในอำเภอและตัวจังหวัด เธอบอกว่าเธอเป็นชาวพุทธ แต่โรงเรียนที่เธอไปเรียนนั้นมีมูลนิธิของศาสนาคริสต์สนับสนุน จึงมีกิจกรรมเกี่ยวกับทางศาสนาอยู่เป็นประจำ จนเธอจำขึ้นใจได้ว่า “ทุกคนอยู่ในสายตาของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้ารักพวกเราทุกคน” นั่นก็คือเราทุกคนเป็นคนเหมือนกัน มีความเท่าเทียมกัน เพราะเป็นที่รักของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเท่าเทียมกันนั่นเอง ซึ่งชาวเขาที่มาเรียนล้วนแต่นับถือศาสนาคริสต์

ในตอนที่เธอเรียนจบวิทยาลัยครู ที่บ้านของเธอสบายขึ้นมาก พี่สาวสองคนได้แต่งงานออกไป ได้สินสอดทองหมั้นที่พอช่วยให้พ่อแม่มีความสุขสบายขึ้น ไร่และนาก็จ้างคนมาช่วยทำในช่วงฤดูกาล น้องสาวสองคนก็ทั้งเรียนและทำงานพิเศษไปด้วย ก็พอช่วยส่งเสียตัวเองได้ ไพลินจึงไม่มีห่วงอะไร เธอสมัครไปเป็นครูในโรงเรียนชาวเขา บนดอยแม่สะลอง จังหวัดเชียงราย แน่นอนว่าเป็นโรงเรียนในเครือข่ายที่เธอเคยเข้าเรียนที่บ้านของเธอ นอกจากนี้บนดอยแถบนั้นยังมีโครงการของเอกชนอื่น ๆ ไปทำการช่วยเหลือชาวเขาอีกหลายหน่วยงาน รวมถึงของทางราชการที่ดูเหมือนจะ “เตาะแตะต้วมเตี้ยม” เหมือนทำเอาหน้าหรือ “ผักชีโรยหน้า” เสียมากกว่า แต่ชาวเขาก็โชคดีมาก เพราะยังมี “โครงการหลวง” ที่เริ่มจากดอยตุงที่อยู่ใกล้เคียง ได้ทำการนำร่องและ “กระชาก” ให้โครงการของหน่วยราชการดูจริงจังขึ้น รวมถึงที่ต้องแข่งกับเอกชน ก็ทำให้ไม่เพียงแต่ชาวเขาเท่านั้นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นทุก ๆ ด้าน แต่คนไทยในพื้นที่ ทั้งข้างล่างที่อยู่ในเมืองและตัวอำเภอ กับที่อยู่ในชุมชนหมู่บ้านห่างไกล ก็พลอยได้รับอานิสงส์ เกิดการพัฒนาไปด้วย

ไพลินตอนนี้ที่ใคร ๆ ก็เรียกว่า “ครูไพลิน” ทำงานอย่างมีความสุขมาก ไม่เพียงแต่จะทุ่มเทการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ที่เธอร่ำเรียนมาเป็นหลักแล้ว เธอยังเสริมใส่เนื้อหาทางด้านสังคมวิทยาเข้าในวิชาวิทยาศาสตร์ที่เธอสอนนั้นด้วย โดยเฉพาะเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม และที่เป็นกระแสใหม่ของสังคมโลกที่มีพูดกันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกในช่วงก่อนจะสิ้นศตวรรษ ค.ศ. 2000 นั้นก็คือ “สิทธิมนุษยชน” และ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” โดยประเทศไทยเองก็อยู่ในช่วง “ปฏิรูปการเมือง” กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ก็ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย

ในช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 นั่นเอง ครูไพลินในฐานะที่ได้รางวัล “ครูนักพัฒนาดีเด่น” ก็ได้เข้าร่วมเป็นอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็น ของสภาร่างรัฐธรรมนูญประจำจังหวัดเชียงราย โดยได้ออกรับฟังความเห็นของชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชาวเขานั้นด้วย ในปีต่อมาเธอก็ได้ย้ายไปทำงานที่จังหวัดที่เธอเกิด โดยได้ไปทำงานในโรงเรียนชาวเขาเช่นเดิม แต่ที่นี่เธอได้ร่วมกับเครือข่ายของเอกชนอื่น ๆ และทางราชการ โดยใช้ “เชียงรายโมเดล” ที่เธอเคยร่วมทำมา มาพัฒนากิจกรรมของการสงเคราะห์ผู้คนที่นี่ ไม่เพียงแต่เพื่อสงเคราะห์ชนกลุ่มน้อยคือชาวเขาเผ่าต่าง ๆ นั้นแล้ว ยังรวมถึง “ผู้ด้อยโอกาส” คือคนยากคนจน คนพิการ และคนไร้ที่พึ่งทั้งหลายนั้นอีกด้วย

ในเดือนกันยายน 2549 เกิดการรัฐประหารล้มล้างระบอบทุนสามานย์ ทหารจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เธอได้เป็น 1 ใน 240 คนของสภาอันทรงเกียรตินี้ โดยอยู่ในสัดส่วนของนักวิชาการและเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีโควตาอยู่ 29 คน เช่นเดียวกันกับผมที่ตอนนั้นเป็นคณบดีอยู่ที่สาขาวิชารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในโควตานี้เช่นกัน

ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เพิ่มความรู้ให้กับครูไพลินเป็นอย่างมาก เพราะที่นี่คือที่รวม “ศักดินาทั่วประเทศ” อันเป็นปัญหาที่เธอไม่คิดว่าจะได้มาเจอ !