กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายงานว่า ทหารอากาศสหรัฐฯ ที่จุดไฟเผาตัวเองหน้าสถานทูตอิสราเอล ล่าสุดได้เสียชีวิตแล้ว

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน รายงานว่า จากกรณีที่ทหารกองทัพอากาศสหรัฐฯ นายหนึ่งก่อเหตุจุดไฟเผาตัวเองหน้าสถานทูตอิสราเอลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 25 ก.พ. เพื่อประท้วงต่อต้านสงครามอิสราเอลในฉนวนกาซานั้น ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว

กรมตำรวจนครบาลวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า ทราบชื่อผู้ก่อเหตุคือ แอรอน บุชเนลล์ นักบินวัย 25 ปี เป็นชาวเมืองซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส โดยเขาเสียชีวิตจากพิษบาดแผลที่เกิดจากไฟไหม้

รายงานของสื่อสหรัฐฯ ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุ บุชเนลล์ถ่ายทอดสดตัวเองบนแพลตฟอร์มทวิตช์ (Twitch) โดยประกาศว่าเขาจะ “ไม่สมรู้ร่วมคิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” อีกต่อไป ก่อนที่จะราดตัวเองด้วยของเหลวบางอย่าง จากนั้นเขาก็จุดไฟเผาตัวเองพร้อมตะโกนว่า “ปลดปล่อยปาเลสไตน์!” จนกระทั่งเขาล้มลงกับพื้น  วิดีโอดังกล่าวได้ถูกลบออกจากทวิตช์แล้ว

ในแถลงการณ์ กองทัพอากาศระบุว่า “บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อวานนี้ เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บแล้วเมื่อคืนนี้” และเสริมว่า จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งญาติของเขาเสร็จสิ้น

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการประท้วงต่อต้านสงครามอิสราเอลในฉนวนกาซาที่เกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ เช่น ในเดือน ธ.ค. 2566 เคยมีผู้ประท้วงจุดไฟเผาตัวเองนอกสถานกงสุลอิสราเอลในแอตแลนตา พบธงปาเลสไตน์ในที่เกิดเหตุ และเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นหนึ่งใน “การประท้วงทางการเมืองที่รุนแรง”

หลังการเสียชีวิตของ บุชเนลล์ ก็มีผู้ประท้วงต่อต้านสงครามปาเลสไตน์ทำการไว้อาลัยให้กับบุชเนลล์ ที่หน้าสถานทูตฯ อิสราเอล มีการวางดอกไม้และพวงหรีด บรรยากาศเป็นไปอย่างสงบนิ่ง โดยที่ยังคงมีการวางป้ายและถือป้ายประท้วงสงคราม

นี่ไม่ใช่การเผาตัวตายเพื่อประท้วงสงครามปาเลสไตน์ครั้งแรก ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2566 มีหญิงไม่ทราบชื่อรายหนึ่งเผาตัวเองประท้วงที่หน้าสถานกงสุล เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย หลังจากที่เธอทำการประท้วงที่หน้าสถานทูต โดยที่มีธงปาเลสไตน์ตกอยู่ในสถานที่ประท้วง ตำรวจระบุว่า เหตุที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นการก่อการร้าย แต่ "น่าจะเป็นการประท้วงทางการเมืองแบบสุดขั้ว"

การเผาตัวเองประท้วงนี้มีประวัติศาสตร์มายาวนาน และยังเคยเกิดขึ้นหลายครั้ง แม้แต่ในยุคหลังคริสต์ทศวรรษที่ 2020 โดยมีหลายประเด็นและข้อเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บแค้นจากการถูกกดขี่ปราบปรามทางการเมือง ความลำบากยากแค้นทางเศรษฐกิจ การต่อต้านสงครามอย่างเช่นสงครามเวียดนาม การประท้วงการถูกกีดกันเลือกปฏิบัติ การประท้วงความไม่เป็นธรรมในสังคม ไปจนถึงการประท้วงเรื่องโลกร้อน

กรณีที่มีชื่อเสียงมากและจุดชนวนการเป็นการประท้วงใหญ่ในหลายประเทศในภูมิภาคแถบนั้นคือกรณีของ โมฮัมเหม็ด บูอาซีซี คนขายผลไม้ผู้จุดไฟเผาตัวเองประท้วงรัฐบาลตูนีเซีย จนทำให้เกิดแรงบันดาลใจในประเทศใกล้เคียงให้พวกเขาลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐบาลของตนเองจนกลายเป็นปรากฏการณ์ "อาหรับสปริง" ในปี 2554

ถึงแม้ว่าการเผาตัวเองประท้วงจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับศาสนาฮินดู และประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ ที่ย้อนกลับไปได้หลายพันปีก่อน แต่หนึ่งในการเผาตัวเองประท้วงที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คือ กรณีพระเวียดนาม ทิก กว่าง ดึ้ก (Thich Quang Duc) เผาตัวเองประท้วงที่เมืองไซ่ง่อน ในปี 2506 เพื่อประท้วงการปราบปรามพุทธศาสนาโดยรัฐบาลเวียดนามใต้ในยุคนั้นที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ จากนั้น ก็มีพระหลายรูปที่ประท้วงตามด้วยวิธีเดียวกัน

ในยุคสมัยสงครามเวียดนามก็เคยมีชาวอเมริกันชื่อ นอร์มัน มอร์ริสัน เผาตัวเองประท้วงหน้าเพนทากอน เพื่อประท้วงสงครามเวียดนาม 

อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นสิบกว่าปีที่ผ่านมา คือกรณีพระทิเบตจุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงการที่จีนใช้อำนาจปกครองทิเบต จนนำมาซึ่งการประท้วงใหญ่ในทางตะวันตกของจีน มีพระรวมแล้วมากกว่า 100 รูป ที่เผาตัวเองประท้วงตลอดช่วงเวลาหลายปีถัดจากนั้น

สำหรับในไทยนั้นเคยมีกรณีของ สังเวียน รักษาเพ็ชร (ป้าสังเวียน) เกษตรกรที่มาร้องเรียนเรื่องหนี้สินกับรัฐบาลเผาตัวเองประท้วงเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2557 และก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณีการจุดไฟเผาตัวเอง เพื่อประท้วงทางการเมืองอื่นๆ เช่น กรณี แมน ตรวจมรรคา เมื่อปี 2551 และกรณี ธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ นักศึกษารามคำแหง ในปี 2533 ที่จุดไฟเผาตัวเองเพื่อประท้วงผู้นำรัฐบาลในสมัยนั้นคือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในการชุมนุมรำลึกครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

 

เรียบเรียงจาก Al Jazeera และ Prachatai.com