สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเป็นรายแห่งให้เหมาะสม เร่งระบายน้ำจากอ่างฯ น้ำมาก ป้องกันน้ำล้นในช่วงฤดูฝน พร้อมควบคุมพื้นที่เพาะปลูกนาปรังรอบ 2 ป้องกันกระทบการจัดสรรน้ำในอ่างฯ ภาคเหนือ
วันที่ 13 มี.ค.67 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยนายไพฑูรย์ เปิดเผยผลการประชุมว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำในทุกแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีจำนวน 51,420 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 62% ของความจุ โดยจากการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีน้ำเพียงพอตามแผนที่วางไว้ โดยที่ผ่านมาได้มีการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเป็นรายแห่งอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะและปัจจัยของอ่างฯ แต่ละแห่งมากที่สุด
“เนื่องจากการคาดการณ์ว่าจะเกิดสภาวะลานีญาในช่วงฤดูฝน สทนช. จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระบายน้ำจากอ่างฯ บางแห่งที่มีปริมาณน้ำมาก เช่น เขื่อนบางลาง ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้ภาคใต้มีการจัดสรรน้ำเกินกว่าแผนช่วงฤดูแล้งที่วางไว้ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับเตรียมรองรับน้ำช่วงที่มีฝนตกมาก ป้องกันการเกิดภาวะน้ำล้นส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ในส่วนของอ่างฯ บางแห่งที่มีการจัดสรรน้ำเกินแผนจากการเพาะปลูกนาปรัง เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ในพื้นที่ภาคเหนือ สทนช. ได้มีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ ในการติดตามควบคุมการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งควบคุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 และประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การจัดสรรน้ำในภาพรวมยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว
นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมในวันนี้ยังได้ติดตามผลการบริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมค่าความเค็มในช่วงวันที่ 7-13 มี.ค. 67 ตามที่ สทนช. ได้มีประกาศแจ้งเตือน ซึ่งทุกหน่วยงานได้ร่วมมือกันดำเนินงานตามแผนอย่างเต็มที่ โดยภาพรวมขณะนี้คุณภาพน้ำในแม่น้ำหลักทั้ง 4 สาย อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำต่าง ๆ เช่น พื้นที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขากระบี่ซึ่งใช้น้ำจากคลองกระบี่ใหญ่ ที่มีความเสี่ยงน้ำไม่เพียงพอ มีแผนแก้ไขปัญหาโดยจะประสานกรมชลประทานในการใช้น้ำจากอ่างฯ คลองแห้งมาช่วยสนับสนุนน้ำต้นทุนในการผลิตประปา ป้องกันผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดย สทนช. จะร่วมบูรณาการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด สำหรับบริเวณ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งประสบปัญหาน้ำจากคลองบางแห่งไม่สามารถส่งเข้าไปยังพื้นที่การเกษตรได้ กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการสูบน้ำให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาเรื่องประปาหมู่บ้าน โดย สทนช. ยังคงมีการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์และหาแนวทางให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยช่วงนี้ได้มีการลงพื้นที่ใน จ.สกลนคร และ จ.นครพนม พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้ความช่วยเหลือลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด