13 มีนาวันช้างไทย อช.แก่งกระจาน และชาวบ้าน ร่วมทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับช้างป่าและชาวบ้านที่เสียชีวิต จากเหตุความขัดแย้ง ระหว่างคนกับช้างป่า ด้าน หน.อุทยาน เตือนประชาชนทำผิดกฎหมย หลังพบปัญหานำผลไม้มาทิ้งริมถนนให้ช้างป่ากิน 

วันที่ 13 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประธาน  สังวร  ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 เพชรบุรี  เป็นประธานในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับช้างป่าและชาวบ้านที่เสียชีวิต จากเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้างป่า เนื่องในวันช้างไทย 13 มีนาคม โดยมี นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ , สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WCS) พร้อมด้วยทหารชุดจงอางศึก , ทหารชุดทัพพระยาเสือ , ตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร , กำนัน , ผู้ใหญ่บ้าน , คณะครูนักเรียนโรงเรียนอนันท และชาวบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ ร่วมในพิธี ณ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ7 เขาหุบเต่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์  

นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่า สำหรับวันช้างไทยในวันนี้ ช้างถือว่าเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย ซึ่งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานหนึ่งที่มีช้างป่า ที่บริเวณห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอู และออกมาเดินที่บริเวณถนนไทรเอน-พุไทร เส้นทางเข้าหมู่บ้านอยู่เป็นประจำ ทางอุทยานมีชุดปฎิบัติการเฝ้าระวังและไล่ช้างกลับเข้าป่าให้กับชาวบ้าน ตลอด 24 ชม.หากประชาชนพบช้างป่า ออกมาที่ถนน เพื่อความปลอดภัยของให้แจ้งเจ้าหน้าที่ เผื่อดันช้างกลับเข้าป่า 

ในส่วนของมาตรการในการป้องกันช้างป่านั้น เจ้าหน้าที่ได้มีการดูและตัดถางข้างทางของถนน ไม่ให้รก จนบดบังช้างป่า มีการพัฒนา ปรับปรุงรั้วกั้นช้างกึ่งถาวรให้ใช้ได้ตลอดเวลา ซึ่งสถานการขณะนี้พบว่า ยังคงมีช้างป่าออกมาจากป่า เพราะติดใจในรสชาติของพืชสวนพืชไร่ของชาวบ้าน หากพบปัญหาให้แจ้งที่สายด่วน 1362 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ผลักดันช้างป่ากลับเข้าป่า 

ในส่วนของแหล่งน้ำแหล่งอาหาร ทางอุทยานฯ พยายามปรับปรุงแหล่งอาหารให้เข้าไปอยู่ในป่าลึก เพื่อลดผลกระทบรบกวนชาวบ้าน ขณะที่ปริมาณน้ำในพื้นที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าขณะนี้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเริ่มเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้ง ต้นไม้บางส่วนเริ่มเปลี่ยนสี

ขณะนี้มีปัญหาที่พบเจอล่าสุด แม้จะมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องคือ การลักลอบนำผลไม้ จำนวนมะม่วง และผลไม้อื่น รวมทั้ง ผักต่าง ๆ มากองริมถนน เพื่อให้ช้างป่ากิน เป็นการดึงดูดช้างป่ามาอยู่ที่ถนน เป็นอันตรายกับบุคคลที่สัญจรไปมา และยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ตามมาตรา 20 พ.ร.บ.อุทยานฯ มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท จึงอยากแจ้งเตือนไปยังประชาชนที่ยังมีพฤติกรรมดังกล่าว ให้เลิกทำเพราะผิดกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะถูกดำเนินคดีทันที

สำหรับประชากรช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนี้ มีมากกว่า 250 ตัว โครงสร้างประชาชน จะมีช้างป่ารุ่นเด็กเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณอาหารที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่มีความปลอดภัย ช้างก็มีประชากรเพิ่มมากขึ้น 

ทางด้าน นายทองใบ เจริญดง ผู้ประสานงาน โครงการติดตามและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ขับเคลื่อนและบูรณาการทำงานร่วมกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งชาวบ้าน ต.หนองพลับ ต.บึงนคร ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ ชาวบ้าน ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า มานานร่วม 20 ปี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เห็นช้างป่าออกไปนอกพื้นที่บ่อยครั้งมาก  ปัจจุบันน้อยลง ทางอุทยานฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังช้างป่า และมีการก่อสร้างแนวรั้วกั้นช้างกึ่งถาวร เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากช้างป่า ในพื้นเปราะบาง โดยสร้างไปได้แล้วประมาณ 50 กิโลเมตร สามารถลดความรุนแรงไปได้ 

ปัจจุบันพื้นที่อุทยานฯ มีช้างป่ากว่า 200 ตัว เฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 180 ตัว โอกาสที่จะได้รับผลกระทบมีสูง แต่ปัจจุบันชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ช่วยให้ปัญหาเบาบางลง จึงอยากขอบคุณหน่วยงาน และผู้นำชุมชนที่ร่วมกันแก้ไขปัญหา ช่วยให้ช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีความอุดมสมบูรณ์ และประชาชนในพื้นที่ต้องมีความสุขด้วย ที่สามารถทำมาหากินปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ 

ทั้งนี้ทาง WCS.ได้ทำข้อมูลทางวิชาการร่วมกับอุทยานฯ มีการติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง พบว่าปัญหาความขัดแย้งลดลง ด้วยชุมชนเองมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และมีมาตราการในการป้องกันแก้ไขปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า สถิติลดลงอย่างมาก จากข้อมูล 400 กว่าเหตุการณ์ ขณะนี้เหลืออยู่เพียง 20 กว่าเหตุการณ์ คงเหลือปัญหาในพื้นที่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ และ ต.ป่าเด็งถือว่าชาวบ้านตื่นตัวและเจ้าหน้าที่มีความพร้อมโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย เช่นการติดตั้งกล้อง เพื่อติดตามพฤติกรรมช้างป่า 

แม้สถานการณ์คลี่คลายลง แต่ยอมรับว่าคงไม่หมดไปร้อยเปอร์เซ็นต์ สามารถลดได้แล้วประมาณ 70-80 % โดยเฉพาะเรื่องรั้วกั้งช้างป่ากึ่งถาวรถือเป็นสิ่งสำคัญลำดับที่สอง ต่อจากการสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ซึ่งรั้วกั้นช้างป่าถือเป็นเครื่องมือในการช่วยเจ้าหน้าที่ป้องกัน และสิ่งที่สามคือทางอุทยานฯ มีความพร้อมในการจัดเจ้าหน้าที่มาเฝ้าระวัง ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และชาวบ้านในชุมชน.