ไชยา รับลูกตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี มอบ กรมฝนหลวง เปิดปฏิบัติการไล่และลดฝุ่นสยบ PM 2.5 โดยใช้เทคนิค "ลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันเพื่อระบายฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ" ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องชาวเหนือ ด้าน "เชียงใหม่" รุก 8 มาตรการรับมือฝุ่น PM 2.5 เล็งคุยเมียนมา-ลาว แก้ฝุ่นควันข้ามแดน
เมื่อวันที่ 12 มี.ค.67 นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงจังหวัดอื่นในภาคเหนือ โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา พร้อมจะมีการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์และมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในวันที่ 15 มี.ค.นี้ สำหรับในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะที่ตนรับผิดชอบกำกับดูแลกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการร่วมแก้ปัญหา
ล่าสุด ได้สั่งการให้ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพิ่มมาตรการปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และให้มีการวางแผนติดตามสภาพอากาศป้องกันปัญหาภัยแล้ง ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำสำหรับการเริ่มเพาะปลูก พร้อมให้การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในภารกิจดับไฟป่า ที่ส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
นายไชยา กล่าวอีกว่า การปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เป้าหมาย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติการ ด้วยการใช้วิธีที่เรียกว่า "เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำและโปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อเป็นการเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองขึ้นต่อไปได้" โดยใช้เครื่องบินชนิด CN-235 จำนวน 1 ลำ และ CASA-212 จำนวน 1 ลำ ขึ้นปฏิบัติการโปรยน้ำจำนวน 3,000 ลิตร เป็นรูปก้นหอย รัศมี 7 NM ในช่วงเวลา 13.52-14.07 และ 14.20-14.52 น. ทั้งนี้ สำหรับผลการปฏิบัติในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 4-10 มีนาคม 2567 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแพร่ ได้ปฏิบัติการฝนหลวง และใช้เทคนิคดัดแปรสภาพอากาศในภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือ บริเวณ จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ น่าน ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง
รมช.เกษตรฯ กล่าวด้วยว่า ภาพรวมผลการปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จนถึงปัจจุบัน ในภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ ภารกิจบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ เสริมด้วยภารกิจสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในการตักน้ำดับไฟป่า รวมถึงภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยบิน โดยมีอากาศยาน 4 ลำ ได้แก่ อากาศยานขนาดใหญ่ (CN) 1 ลำ ขนาดกลาง (CASA) 1 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ รวมถึง เครื่องบิน SKA อีก 1 ลำ จากการปฏิบัติการทั้งสิ้น 50 วัน รวม 143 เที่ยวบิน ในพื้นที่ 15 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ บินปฏิบัติการทั้งสิ้น 16 วัน 20 เที่ยวบิน ในบริเวณพื้นที่ อ.เมืองฯ สะเมิง แม่วาง แม่ออน แม่แตง พร้าว เชียงดาว จอมทอง ฮอด ดอยเต่า และ อ.อมก๋อย อีกทั้งยังมีเฮลิคอปเตอร์ ร่วมบินปฏิบัติการตักน้ำดับไฟป่าไปแล้วทั้งสิ้น 4 วัน 32 เที่ยวบินและจะยังคงเฝ้าติดตามเพื่อช่วงชิงจังหวะที่เหมาะสม ในการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องต่อไป
ด้าน นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่ามาตรการรับมือฝุ่นควันที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการไปแล้ว มีทั้งสิ้น 8 มาตรการ ได้แก่ 1. ควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรได้กว่า 2 แสนไร่ 2. ปิดป่าอนุรักษ์ 19 ป่า ป้องกันการเข้าไปจุดไฟ 3. หางานให้คนหาของป่า ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 4. ตั้งรางวัลนำจับ การแจ้งหรือการนำจับคนที่เผาป่า คดีละ 10,000 บาท โดยเมื่อพนักงานสอบสวนรับดำเนินคดี ถ้ามีตัวผู้กระทำผิดมา ก็จะจ่ายทันที 5. ลมตะวันตกที่พัดผาฝุ่นประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา ได้ใช้มาตรการลดการเผา งดการบริหารจัดการเผาในพื้นที่เชียงใหม่ 6. เพิ่มปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อระบายฝุ่นขึ้นบนชั้นบรรยากาศทุกวัน 7. ควบคุมการเผาในเขตชุมชน 100% ทุกเขตเทศบาล 8. ห้ามการเผาในเขตริมทาง 100%
ส่วน นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดหารือร่วมกับรัฐบาลเมียนมาร์ ในการแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดนร่วมกัน ซึ่งหากสามารถลดหย่อนการเผาพื้นที่การเกษตรของประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็สามารถทำให้สถานการณ์ฝุ่นควันในเชียงใหม่ดีขึ้น อีกทั้งได้พยายามขับเคลื่อนให้มีการประชุมหมอกควันข้ามพรมแดนร่วมกันระหว่างเมียนมาร์และ สปป.ลาว โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเร็ว ๆ นี้