นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เผยว่า พก.เป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ครอบครัวคนพิการ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการส่งเสริมให้คนพิการมีความเข้มแข็ง มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง ผ่านการจัดสรรงบประมาณการสนับสนุนในด้านการกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพสำหรับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ การจ้างงานคนพิการ และการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์สำหรับคนพิการ ภายใต้การดำเนินงานของ กองกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ ผ่านวิสัยทัศน์ "การบริหารจัดการเงินทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเสริมพลังคนพิการ มุ่งส่งเสริมสังคมแห่งความเท่าเทียม" ส่งผลให้องค์กรคนพิการ/เครือข่าย ที่จัดทำโครงการเพื่อประโยชน์สำหรับคนพิการ ได้รับสนับสนุนงบประมาณอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลให้คนพิการทุกประเภทในประเทศไทย ที่มีถึงจำนวน 2,265,557 ราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพโดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งการกู้ยืมเงินกองทุนฯ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การกู้รายบุคคล รายละไม่เกิน 60,000 บาท
ทั้งนี้ หากผู้ประสงค์จะกู้ยืมเงินเกินกว่าวงเงินที่กำหนด ให้มีการพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยกู้ได้ไม่เกิน 120,000 บาท และการกู้รายกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท ผ่อนชำระภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย ในด้านการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการ เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงแหล่งงานและมีงานทำมากที่สุด มีอาชีพ มีรายได้ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป โดยการจ้างงานของหน่วยงานภาครัฐ และนายจ้างหรือเจ้าของประกอบการ เป็นไปตามกฎหมายจ้างงานคนพิการ มาตรา 33 แต่หากไม่สามารถดำเนินการจ้างงาน ตามมาตรา 33 ได้ สามารถส่งเสริมอาชีพ ตามมาตรา 35 โดยการจัดประโยชน์ให้กับคนพิการซึ่งมี 7 วิธี แทนได้
สำหรับการจ้างงานคนพิการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค มีการกำหนดนโยบายส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเข้าทำงานในภาครัฐให้มากขึ้น ขณะที่การจ้างงานของภาคเอกชนทั่วประเทศ มีการจ้างงานคนพิการมากกว่า 90% คิดเป็นจำนวน 59,000 ราย ถือเป็นการขานรับนโยบายของภาครัฐเป็นไปในทิศทางที่ดี
นายกันตพงศ์ กล่าวว่า งบประมาณ 2567 พก.ได้กำหนดตัวชี้วัดการจ้างงานคนพิการเข้าทำงานในภาครัฐไม่น้อยกว่า 60% หรือ 15,000 ตำแหน่ง จากที่เคยมีการจ้างงาน 18.87% คิดเป็น 3,200 ตำแหน่ง ในส่วนของภาคเอกชน ตั้งเป้าให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีการจ้างงานคนพิการให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการช่วยลดช่องว่างและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของคนพิการ ให้สามารถพึ่งพา ดูแลตนเอง และครอบครัว ได้เหมือนคนปกติทั่วไป และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข