จากกรณีที่ "สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารข่าวยืนยันมติ กกต.ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ "พรรคก้าวไกล" โดยระบุว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เพื่อยกเลิกประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ตาม มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัย ว่าการกระทำ ของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ นั้น
ล่าสุด สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สมชัย ศรีสุทธิยากร ระบุว่า..
กรณี กกต. ส่งเรื่องยุบพรรคก้าวไกล
1. ระยะเวลาที่ กกต.พิจารณา ไม่ช้า ไม่เร็วเกินไป คือ ใช้เวลาราว 1 เดือน 10 วัน หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 31 มกราคม 2567
2. ขั้นต่อไป ในขั้นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะเกิน 2 เดือนจากนี้ คือ อยู่ในราวต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งมีแนวโน้มเกือบไม่มีทางเป็นสิ่งที่เป็นข่าวดีต่อพรรคก้าวไกลได้
3. การยุบพรรค จะมีผลต่อการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคด้วย ซึ่งพรรคก้าวไกลต้องประเมินว่า จะรักษาหลักการที่รอผลคำวินิจฉัย หรือ จะให้ สส.บัญชีรายชื่อที่เป็นกรรมการบริหารลาออกเพื่อเลื่อนลำดับคนขึ้นมาแทนที่เพื่อรักษาจำนวน สส.หลังยุบพรรคให้มีจำนวนเท่าเดิม
4. การย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ ของ สส. ต้องทำภายใน 60 วัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพยายามรักษา สส. ให้อยู่ให้มากที่สุด ท่ามกลางข้อเสนอที่เย้ายวนจากพรรคการเมืองอื่น ที่ต้องมีข้อเสนอเชิญชวนให้สังกัดพรรคอย่างมากมายแน่นอน