เมื่ออีเวนต์สำคัญระดับภูมิภาคอาเซียนมาจัด ณ เมืองเก่าสงขลา ระหว่างวันที่ 26 - 29 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา อาจารย์และนักศึกษา หลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (หลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม SKRU) ยกพลเข้าร่วม Songkhla Heritage Clinic: โครงการสนับสนุนเครือข่ายเยาวชนและชุมชนเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมระดับอาเซียน (Youth Empowerment in SEACHA Heritage Cities Network: Building Capacity, Celebrating Heritage)
นับเป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม หรือ The Hybrid Historian ทั้งสองชั้นปีของหลักสูตรฯ ในฐานะเจ้าถิ่นผู้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และศึกษาภาคสนามในพื้นที่เมืองเก่าสงขลาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กระทบไหล่นิสิตนักศึกษาเพื่อนพี่น้องต่างศาสตร์ต่างสาขาวิชา ต่างสถาบันการศึกษา และต่างภูมิภาค รวมถึงรับฟังข้อมูลคำแนะนำจากคณาจารย์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมด้วยนักศึกษาและอาจารย์สาขาการจัดการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ก็ได้รับโอกาสเดียวกันนี้
โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.โยฮันเนส วิโดโด้ (Professor Dr.Johannes Widodo) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACHA Senior Advisor) นำเวิร์คช้อปและชี้แนะอย่างใกล้ชิดในบทบาท Clinic Facilitator SEACHA ร่วมด้วยนายกเทศมนตรีจากเมืองและเยาวชนในภาคี SEACHA คือ ซิอัก (Siak Regency) อินโดนีเซีย กับ ซาน คาลอส (San Carlos City) ฟิลิปปินส์ โดยเจ้าบ้านคือรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายกเทศมนตรีนครสงขลา นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม Songkhla Heritage Trust บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมต้อนรับและอำนวยความสะดวก
กิจกรรมภาคบรรยายได้รับความรู้จาก ดร.โยฮันเนส วิโดโด้ บรรยายหัวข้อ “วัฒนธรรม การอนุรักษ์ และชุมชน Culture, Conservation and Community” จากนั้นเป็นการกล่าวแนะนำชุดการบรรยายเกี่ยวกับมรดกเมืองสงขลาซึ่งมิสเตอร์เจมส์ สเต็นท์ (Mr.James Stent) ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเสนอวิทยากร 3 คน คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ บรรยายหัวข้อ “มรดกตระกูลวู (ณ สงขลา) Heritage of Wu (Na Songkhla) Clan” รองศาสตราจารย์พิชญา สุ่มจินดา ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวข้อ “พุทธศิลป์จากอภัยคีรีวิหารถึงศรีลังกาสุกะ Buddhist Art from Aphayagiri Vihara to Sri Lankasuka” และคุณปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้ก่อตั้ง a.e.y.space พื้นที่ศิลปะแห่งเมืองสงขลา นำเสนอหัวข้อ “มรดกสงขลา: สารตั้งต้นของชุมชนศิลปะอันรุ่มรวย Songkhla Heritage: the Incubator of Songkhla’s Vibrant Art Scene”
ก่อนมอบหมายนักศึกษาร่วมทำเวิร์คช้อป ดร.โยฮันเนส วิโดโด้ บรรยายหัวข้อ “การสร้างสรรค์พื้นที่อย่างยั่งยืน การอนุรักษ์บนฐานของชุมชน และการพัฒนาในบริบทของปฏิบัติการลดโลกร้อนด้วยมรดกภูมิปัญญา Sustainable Place Making & Community-Bases Conservation & Development in the context of Cultural Wisdom & Climate Action” จากนั้น ดร.คาร์ตรินี ปราติฮาริ คูโบนตุบุห์ (Dr.Cartrini Pratihari Kubontubuh) ประธานสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACHA) เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่อง Heritage Hero Program ของเมืองซิอัก ประเทศอินโดนีเซีย และเสวนาเรื่อง การทำแผนที่มรดกวัฒนธรรมอย่างครอบคลุม เพื่อการจัดการเปลี่ยนแปลงตามวิธีประชาธิปไตย กรณีศึกษาจาก เมืองซาน คาร์ลอส ประเทศฟิลิปปินส์ โดย มิสเตอร์นิคานอร์ ดี. เกอโมโน (Mr.Nicanor D. Germono) ประธานเครือข่ายเยาวชนเพื่อมรดกของปังกาซีนัน และเลขานุการคณะกรรมการวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งปังกาซีนัน
ช่วงการเวิร์คช้อปของนักศึกษา โดยมีคณาจารย์จากหลากสถาบันดังกล่าวมาแล้วข้างต้นเข้าร่วม แบ่งนิสิตนักศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) Ecology 2) Culture 3) Economy 4) Social และ 5) Morphology คละสาขาวิชาใช้แนวทางพหุศาสตร์บูรณาการศาสตร์ร่วมกันดำเนินงาน โดยเริ่มจากเวิร์คช้อป การทำแผนที่มรดกวัฒนธรรมและออกแบบการถ่ายทอดเรื่องราว Mapping & Creating Narratives เวิร์คช้อปออกแบบรายละเอียดและเส้นทางตามเนื้อหาของเรื่องราวที่จะบอกเล่า (คำนึงถึงเนื้อแท้ทางวัฒนธรรม ความเป็นธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่) Crafting itineraries & trails based on the narrative (Cultural Authenticity, Social Justice, Environmental Sustainability & Economic Prosperity) ปิดท้ายภาคกิจกรรมเวิร์คช้อปโดยการนำเสนอและการอภิปราย คุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของพื้นที่ (Outstanding Universal Value: OUV) พลังชุมชน และเมืองมรดกที่ยั่งยืน Presentation & Discussion: “OUV, Empowered Community, and Sustainable Heritage Cities” โดยนิสิตนักศึกษาทั้ง 5 กลุ่ม ท่ามกลางผู้รับฟังและแสดงความเห็นจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้แทนจากสถานกงสุลอินโดนีเซียประจำจังหวัดสงขลา นายกเทศมนตรีและผู้นำเยาวชนจากสงขลา ซาน คาลอส และซิอัก ความเห็นจากวิทยากร ภาคีเครือข่าย และผู้แทนบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
นายรัชพล ทองหนู นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สะท้อนความรู้สึกจากการเข้าร่วมโครงการฯ เอาไว้อย่างน่าสนใจ แบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. ผมได้เข้าร่วมทีมในกลุ่มที่ 1 ในธีม Ecology(นิเวศวิทยา) ลักษณะเป็นการท่องเที่ยวเชิงชื่นชมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในบริเวณอำเภอเมืองจังหวัดสงขลาโดยรอบ ผมได้รับมอบหมาย : ค้นหารูปภาพ ระบุที่มาของภาพในสถานที่ท่องเที่ยวที่มติของกลุ่มเสนอมา / เขียนคำอธิบายในแต่ละสถานที่ท่องเที่ยว / ตรวจสอบเนื้อหาในแต่ละสถานที่และพิสูจน์อักษร
แม้หัวข้อนี้จะไม่ตรงกับความถนัดของผม แต่ก็พยามที่จะเล่าเนื้อหาทางประวัติศาสตร์/ตำนานนิทาน เท่าที่ผมทราบให้เพื่อนร่วมทีมรับฟังเพื่อพยายามเชื่อมโยงเนื้อหาระหว่างประวัติศาสตร์กับการท่องเที่ยว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของไอเดียในการสื่อถึงความรู้สึกเมื่อได้ไปสัมผัสกับสถานที่นั้น ๆ
2. ความรู้สึกก่อนเข้าร่วม รู้สึกประหม่าและตื่นเต้น เป็นอย่างมาก เกรงว่าตัวผมเองจะไม่มีความสามารถมากพอที่จะร่วมโครงการนี้ได้ เนื่องจากผมเพิ่งได้มาอยู่ในสถานะนักศึกษาเพียงปีแรก ความรู้และทักษะการทำงานและความรู้ทางประวัติศาสตร์ยังมีน้อยนัก แต่ความกลัวกลับกลายเป็นความกล้า โดยปรับตนเองให้กระตือรือร้น และเตรียมตัวในการทำงานเป็นทีม รวมถึงการสร้างความมั่นใจในตัวเอง
ความรู้สึกระหว่างเข้าร่วม โครงการนี้ มีประโยชน์อย่างยิ่ง สร้างฐานความรู้ในเชิงท่องเที่ยวและการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลกให้กับผมเป็นอย่างมาก และมีประสบการณ์ที่ดีการรวมทีมกันในแต่ละสาขาและต่างสถาบัน ทำให้เข้าใจกระบวนการทำงานแบบวัยทำงานได้ดี พวกเรามาจากการเรียนรู้แต่ละศาสตร์ที่ต่างกัน มีความคิดที่หลากหลาย แต่ก็จบลงด้วยดี สร้างความเข้าใจในลักษณะที่เรียกว่า “ทีมเวิร์ค” ถึงแม้ว่าผมจะไม่ถนัดภาษาอังกฤษและความรู้ในเชิงการท่องเที่ยวมากนัก แต่อาศัยการจับใจความจากท่านที่เป็นผู้แปลภาษาอังกฤษ ในการสร้างความเข้าใจของตนเอง
ความรู้สึกเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิให้ความสำคัญกับเยาวชนและเมืองสงขลา รับฟังความคิดเห็นของพวกเราในฐานะเยาวชนคนหนึ่งที่อยากจะเห็นการพัฒนาการท่องเที่ยวของเมืองสงขลาไปในทิศทางที่ดี เปิดโอกาสให้พวกเราเยาวชนออกแบบการท่องเที่ยวในชุดความคิดของคนรุ่นใหม่ ขอขอบพระคุณผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่ให้โอกาสและรับฟังเสียงเล็ก ๆ จากเยาวชนในโครงการฯ ครั้งนี้
3. ผมได้นำความรู้ที่เล่าเรียนมาจากวิชาเอกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในภาคเรียนที่แล้ว กิจกรรมการเดินเรียนรู้ภาคสนามในเมืองเก่าสงขลาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา และการฝึกฝนให้มีคุณลักษณะเป็นนักประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มาใช้บูรณาการความรู้ให้เข้ากับธีมของกลุ่มของผมรับผิดชอบ ช่วยเสริมศักยภาพของเราให้กับกลุ่มและภารกิจของกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย ดังที่สมาชิกในกลุ่มสงสัยถึงที่มาของสถานที่และชื่อสถานที่ ผมก็เล่าให้ทุกคนได้รับฟัง ตามความรู้และความเข้าใจที่ผมเคยศึกษามา เช่น ที่มาของหัวนายแรง / ที่มาของชื่อหาด “ชลาทัศน์” ซึ่งเป็นคำภาษาบาลี-สันสฤต ที่สมาสกัน / ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ ซึ่งท่าน้ำนี้เคยเป็นชื่อของ 1 ใน 10 ประตูเมืองเก่าสงขลามาก่อน
4. ผลตอบรับจากผู้ทรงคุณวุฒิ ศาสตราจารย์ ดร.โยฮันเนส วิโดโด้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งรับหน้าที่ Clinic Facilitator SEACHA ต่อการทำงานร่วมกันและการนำเสนอของกลุ่ม ท่านให้ความคิดเห็นว่า เป็นแนวคิดที่ดีและลักษณะการนำเสนอไปในแนวทางที่ดี ซึ่งกลุ่มของผม ใช้การสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่มีใส่ลงไปในสถานที่นั้น ๆ เช่น เขาเก้าเส้ง ให้ความรู้สึกแบบ EXCITEMENT (ตื่นเต้น/เร้าอารมณ์) / เกาะหนูเกาะแมว ให้ความรู้สึกแบบ AMAZEMENT (ความประหลาดใจ)/ ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ ให้ความรู้สึกแบบ RENEWED (การเริ่มต้นใหม่)
5. ความประทับใจของผมต่อ Clinic Facilitator SEACHA และในฐานะชาวต่างชาติที่พูดว่า”…รักเมืองสงขลาดั่งบ้านของตน…” จากงานเลี้ยงรับรองจนถึงการได้ร่วมกิจกรรมเวิร์คช้อปจนเสร็จสิ้นกระบวนการ และความรู้สึกต่ออาจารย์-นักวิชาการที่ร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการ ให้คำปรึกษา แนะนำ รวมถึงผู้แปลการสื่อสารระหว่างเรากับ Clinic Facilitator SEACHA ทำให้ผมย้อนกลับมาคิดว่า ทุก ๆ ท่านบางท่านที่ร่วมโครงการฯ อาจจะเป็นคนต่างจังหวัด หรือคนต่างประเทศ แต่พวกเขาให้ความสำคัญและความสนใจต่อสงขลาเป็นอย่างมาก ผมในฐานะเยาวชนควรจะมีส่วนร่วมในขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลาซึ่งเป็นมรดกของชาติสู่สายตาชาวโลกแม้ผมจะไม่มีบทบาทมากนัก แต่ก็อยากจะเป็นส่วนร่วมที่ได้เห็นถึงพัฒนาการของเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก
เมื่อผมรับฟังแนวคิดของทุกท่านในโครงการฯ สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับผมในฐานะคนสงขลาเป็นอย่างมาก ขอขอบคุณทุกท่านที่สร้างโอกาสและประสบการณ์ให้กับเยาวชนและประชาชนคนสงขลาในครั้งนี้
6. โอกาสที่ได้รับในโครงการฯ ครั้งนี้ สามารถต่อยอดและบูรณาการต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาอย่างผม ที่เล่าเรียนในหลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม ซึ่งมีพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย และยังมีจุดแข็งคือแหล่งเรียนรู้เมืองเก่าสงขลา ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และภาคใต้ ในมุมมองของคนท้องถิ่น กับการร่วมกิจกรรมโดยมีพื้นที่การเรียนรู้คือเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง ร่วมกับเพื่อนต่างศาสตร์ต่างสาขาและต่างสถาบัน รวมถึงต่างภูมิภาค ให้ก่อเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักการประยุกต์ความรู้ที่เรียนในชั้นเรียนกับเรียนในพื้นที่ใช้เพื่อนำไปปรับใช้กับภูมิลำเนาของผมในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่
เนื่องจากผมในฐานะคนในพื้นที่จังหวัดสงขลา และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดย มรภ.สงขลามีวิสัยทัศน์อันแน่วแน่ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้สู่สากล จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผมสำนึกรักและอยากพัฒนาบ้านเกิด ตามศาสตร์ที่ผมได้เล่าเรียนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นับว่าเป็นโครงการฯ ชั้นเยี่ยม ที่นำไปสู่การจุดประกายความเจริญงอกงามในเชิงประวัติศาสตร์ และเชิงการท่องเที่ยว เพื่อนำไปปรับใช้กับสถานที่สำคัญในทั่วประเทศ ตามภูมิลำเนาของตนได้เป็นอย่างดี และบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชนอย่างผม ให้เกิดการจุดประกายทางความคิดในการเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานที่สำคัญของจังหวัดที่สามารถสร้างสรรค์ในเชิงการท่องเที่ยวและเป็นแหล่งมรดกของแผ่นดินได้
7. หากมีโอกาสเช่นนี้ผมอยากจะเข้าร่วมกิจกรรมลักษณะนี้เป็นอย่างมากครับ และอยากให้มีกิจกรรมเชิงประวัติศาสตร์ร่วมกับการท่องเที่ยว ลักษณะเช่นเดียวกับโครงการ SEACHA ผมอยากจะดึงศักยภาพที่มีอยู่และเรียนรู้พัฒนาตนเอง เพื่อนำโมเดลของกิจกรรมในเมืองเก่าสงขลาไปต่อยอดประยุกต์กับท้องถิ่นของตนเอง คือ ตำบลคูเต่า เนื่องจากเป็นตำบลที่มีเอกลักษณ์ชุมชนพหุวัฒนธรรม (ไทยพุทธ ไทยจีน ไทยมุสลิม) เช่นเดียวกับเมืองเก่าสงขลา แต่ขนาดของชุมชนย่อมกว่ามาก มีลักษณะเป็นหมู่บ้านหรือชุมชน แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์สำคัญทางวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาต่างอยู่มิน้อย อีกทั้งมีพิพิธภัณฑ์อยู่ 2 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์มีชีวิตโนราเติม วิน วาด และพิพิธภัณฑ์วัดดอน ผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะพัฒนาบ้านเกิดของตน ให้สิ่งที่สำคัญเหล่านี้ประจักษ์สายตาประชาชนและคงอยู่ตราบนานสืบไป
8. ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วมและองค์กรสนับสนุนในโครงการฯ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของเมืองเก่าสงขลาและความคิดเห็นของเยาวชนตัวน้อย ๆ อย่างพวกเราให้มีโอกาสสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่และโอกาสที่สำคัญนี้
9. ในกลุ่มของผม ทุกคนเป็นรุ่นพี่ผมทั้งหมดเลย จึงรู้สึกประหม่ามาก ๆ ล้วนแต่มีความสามารถในด้านที่ตนเองถนัดครับ จากหลากหลายแนวคิดสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การท่องเที่ยวเมืองสงขลา เชิง Ecology (นิเวศวิทยา) ขอบคุณพี่ๆทุกคนครับ ที่รับฟังความคิดเห็นและให้โอกาสผม แม้ผมจะมีประสบการณ์เพียงเล็กน้อย แต่พวกพี่ ๆ ก็คอยช่วยเหลือ และรับฟังความคิดของผมอยู่เสมอ ขอบคุณสำหรับประสบการณ์งานกลุ่มครั้งนี้ด้วยครับ