สืบเนื่องจากเวทีการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 62 ภายใต้ธีม “ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความเป็นกลางทางคาร์บอน”สาขาประมง คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดสัมมนาพิเศษ เรื่อง Frontier Research and Technology in Fisheries and Aquaculture Toward Carbon Neutrality หรือ การวิจัยและเทคโนโลยีแนวหน้าด้านการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยได้รับเกียรติจากนักวิจัยนักวิชาการไทยและต่างประเทศ ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการวิจัย สรุปสาระสำคัญได้ว่า การใช้ระบบนิเวศทางทะเลในการดูดซับคาร์บอนให้อยู่ในรูป blue carbon เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งการดักจับและกักเก็บคาร์บอน และสาหร่ายทะเลเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพในการดักจับและดูดซับคาร์บอน ซึ่งทำให้การเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเลมีส่วนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน แต่กระนั้นคาร์บอนที่ถูกดักจับและกักเก็บไว้อาจจะถูกปลดปล่อยกลับสู่บรรยากาศ ทั้งจากการเก็บเกี่ยวนำไปใช้ หรือการสูญเสียในรูปคาร์บอนอินทรีย์ที่ละลายได้ (DOC) หรืออนุภาคคาร์บอนอินทรีย์ (POC) ซึ่งอาจมีอัตราการสูญเสียที่แตกต่างกันไปตามอุณหภูมิ และสภาวะแวดล้อม

นอกเหนือจากสาหร่ายทะเลแล้ว หญ้าทะเล และป่าโกงกางก็เป็นอีกระบบนิเวศทางทะเลในการดูดซับคาร์บอนให้อยู่ในรูป blue carbon โดยระบบนิเวศทั้ง 2 มีความสามารถในการดูดซับและเปลี่ยนคาร์บอนให้ตรึงอยู่ในดินได้สูงกว่าป่าไม้บนผืนดินถึง 3-8 เท่า และระบบนิเวศป่าโกงกางและหญ้าทะเลมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ถึง 6.45-7.03% ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่ป่าโกงกางถึง 32% ของป่าโกงกางทั่วโลก หากแต่พื้นที่หญ้าทะเลคิดเป็นสัดส่วน 6-12% เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหญ้าทะเลมีอัตราการสูญเสียพื้นที่มากกว่าป่าโกงกางมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาชายฝั่ง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการทำการประมงแบบไม่อนุรักษ์ เป็นต้น ทั้งนี้การทำให้พื้นที่หญ้าทะเลกลับคืนทำได้โดยการอนุรักษ์ ไม่ให้เกิดการสูญเสียเพิ่มเติม หรืออีกวิธีการคือการทดแทนซึ่งเป็นวิธีการที่ท้าทายและใช้เวลานาน

นอกจากนี้การทำประมงด้วยการเลี้ยงหอยเป็นหนึ่งในวิธีการที่ถือว่ามีศักยภาพในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนเช่นกัน หากแต่อาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจสูญเสียไปหากมีการเลี้ยงในระบบนิเวศทะเลเปิด ซึ่งจากการศึกษาการเลี้ยงหอยแครงบริเวณหมู่เกาะ Ma’an ประเทศจีนในปี 2020 ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ DNA ประชากรตัวอย่างทั้งสัตว์มีกระดูกสันหลังและกลุ่มกุ้ง กั้ง ปู พบว่าการเลี้ยงหอยแครงไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพของประชากรตัวอย่าง แต่กระนั้นยังมีความต้องการการศึกษาวิจัยในพื้นที่ สภาวะแวดล้อม ตัวอย่างและกลุ่มประชากรอื่น ๆ เพื่อให้คลายกังวลว่าเทคโนโยลีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนนี้จะไม่ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างแท้จริง

สำหรับผลิตภัณฑ์ประมงหลักอันดับหนึ่งของประเทศไทยคือ กุ้ง รองลงมาคือปลา หอยและปลาหมึกตามลำดับ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งได้จากการเพาะเลี้ยง ซึ่งปัจจัยนำเข้าที่สำคัญคืออาหารสำหรับการเพาะเลี้ยง ดังนั้นการใช้อาหารในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพและปริมาณตามที่กำหนด มีอัตราการแลกเนื้อสูง ไม่เกิดการเหลือทิ้ง เป็นสิ่งท้าทายสำหรับการวิจัย ทั้งในด้านการวิเคราะห์คุณภาพอาหาร การสร้างสูตรอาหาร การย่อยอาหาร อัตราการแลกเนื้อและของเสียที่เกิดขึ้น รวมถึงการใช้แหล่งอาหารใหม่ ๆ เช่น แมลง เป็นต้น ซึ่งการลดของเหลือทิ้งของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และก่อให้เกิดความยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน