วันที่ 10 มี.ค. 2567  นายวิโรจน์  ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า มีเรื่องให้อภิปรายหลายประเด็น จะเป็นการทวงสัญญารัฐบาลว่าจะทำหรือไม่ทำ ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้ มีความคืบหน้าไปถึงไหน รวมถึงสิ่งที่ทำมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นลักษณะของการเสนอแนะว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำ และไม่ทำคืออะไร นอกจากนี้ยังมีปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งเรื่องมาเฟียข้ามชาติ อิทธิพลท้องถิ่น รวมถึงการเรียกรับผลประโยชน์จากข้าราชการบางกลุ่ม ทุนสีเทา คอลเซ็นเตอร์ ไปจนถึงปัญหายาเสพติด การใช้อำนาจรัฐที่ไม่มีหลักนิติธรรม ระบบสองมาตรฐาน 

เมื่อถามว่ามองเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเตรียมเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่อย่างไรบ้าง นายวิโรจน์กล่าวว่า เป็นเรื่องของนายทักษิณ พวกเราไม่เคยสนใจประเด็นของนายทักษิณเลย แต่สนใจเนื้อหาสาระ และสิ่งที่นายทักษิณได้รับ ว่าเป็นสิทธิพิเศษหรือไม่ หรือคนอื่นที่มีเงื่อนไขคล้ายนายทักษิณพึงจะได้รับด้วย ถ้าเป็นเรื่องสิทธิมาตรฐานเราเองก็ไม่ได้ติดใจอะไร 

ส่วนจะเป็นโมเดลให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาด้วยหรือไม่นั้น คงต้องติดตามดู แต่ตนคิดว่าสังคมไทย บาดเจ็บจากการเอาบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาเป็นเงื่อนไขในการขัดแย้งมากพอแล้ว สมัยก่อนก็มีเรื่องนายปรีดี พนมยงค์ , จอมพลถนอม กิตติขจร , จอมพลประภาส  จารุเสถียร ไล่มาจนถึงพลเอกสุจินดา คราประยูร และนายทักษิณ ตนคิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่อยู่ที่ตัวโครงสร้าง 

“ขอให้สบายใจว่าพรรคก้าวไกลไม่เคยมีความคิดเลย ที่จะหยิบยกเอาบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในหมู่ประชาชน และใช้วิธีการเช่นนั้น ทำให้สังคมกลับมาแตกแยกอีก แต่เราจะมุ่งแก้ไขที่โครงสร้าง วิพากษ์วิจารณ์และแก้ไขเนื้อหาสาระเป็นหลัก ดังนั้นยังยืนยันว่าทั้งนางสาวยิ่งลักษณ์และนายทักษิณ ไม่ได้อยู่ในสารบบคิดของพรรคก้าวไกลแต่เราให้ความสนใจ ใส่ใจ กับสิ่งที่คุณทักษิณได้รับ ถ้าเกิดได้รับบุคคลอื่นที่อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันก็ควรได้รับด้วย“ นายวิโรจน์ กล่าว 

นายวิโรจน์ ย้ำว่า นายทักษิณควรได้รับความยุติธรรม ไม่ใช่ได้รับอภิสิทธิ์ ส่วนที่มีคนมอบว่าเกี๊ยเซียะกันนั้น ถ้าดูบทบาทตนก็คิดว่าไม่ได้เกี๊ยเซียะยังจัดหนัก จัดเต็ม

เมื่อถามว่าการไปเชียงใหม่ของนายทักษิณครั้งนี้ มีกระแสข่าวว่าอาจไปตลาดพบประชาชนด้วย จะเหมาะสมหรือไม่ นายวิโรจน์กล่าวว่า ต้องย้อนถามกรมราชทัณฑ์ว่าทำได้หรือไม่ ก้าวไกลคงไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ 

ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่หากนำโมเดลของนายทักษิณมาใช้กับนักโทษคนอื่น นายวิโรจน์กล่าวว่า เห็นด้วย เพราะเป็นสิทธิ์ตามมาตรฐาน นักโทษคนอื่นก็ควรได้รับสิทธิ์นั้น เป็นเรื่องง่ายมาก ในยุคที่นายทักษิณถูกขับไล่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จำได้หรือไม่ว่าคนเสื้อแดง ต่อสู้ในบริบทไหน ดังนั้นเราไม่ควรเลือกปฏิบัติ ซึ่งตนคิดว่าทุกวันนี้การต่อสู้นั้นก็ยังอยู่ คำว่าสองมาตรฐานก็ยังหลอนตนอยู่ ซึ่งประเทศไทยต้องการมาตรฐานเดียว