วันที่ 8 มีนาคม 2567 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือและเสริมสร้างนโยบายมะเร็งในสตรีและโอกาสของการดูแลมะเร็งในสตรีภายใต้หัวข้อ “Enhancing Women’s Cancer Care: Thailand Women Cancer Policy Forum ครั้งที่ 2” เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ณ ห้องประชุม ริชมอนด์ บอลรูม ชั้น 6 โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล ถนนรัตนาธิเบศร์

 

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวถึงแนวทางการดำเนินนโยบายตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Self-sampling การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม และแนวทางการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ว่า ภายหลังตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับนโยบายมาจากนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นในมิติของการดูแลสุขภาพ สธ.จึงดำเนินโครงการมะเร็งครบวงจร โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกผู้หญิงอายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส(ราย) ภายใน 100 วัน ซึ่งได้ดำเนินการครบแล้วภายใน 1 เดือน ล่าสุดเพิ่มจำนวนถึง 1.6 ล้านโดสในปัจจุบัน

 

โดยโครงการมะเร็งครบวงจรมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย และการดูแลรักษา ภายใต้ 5 โรคมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ตรง ในจำนวนนี้ มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาหายได้ หากตรวจพบในระยะแรก จากข้อมูลพบผู้ป่วยประมาณปีละ 5,000 ราย เสียชีวิตปีละ 2,000 ราย ในจำนวนนี้ พบอัตราการป่วยมะเร็งเต้านมสูงกว่ามะเร็งปากมดลูก แต่พบอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกสูงกว่ามะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ตรวจพบในระยะที่ 3-4 ซึ่งหากตรวจพบเร็วกว่านี้ จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

 

ปัจจุบัน สธ.สนับสนุนชุดตรวจมะเร็งปากมดลูก (HPV DNA Self-sampling) สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง สามารถนำไปตรวจเองที่บ้านได้ วิธีดังกล่าวทำให้ สธ.เข้าถึงโรคมะเร็งปากมดลูกและทำการรักษาป้องกันได้มากกว่าการตรวจคัดกรองแบบเดิม ในส่วนมะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงสูงสุดมากกว่า 17,000 รายต่อปี เสียชีวิตประมาณ 2,000 รายต่อปี ซึ่ง สธ.ให้สิทธิประโยชน์แก่กลุ่มเสี่ยงในการตรวจคัดกรองและการรักษา

 

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ขณะเดียวกัน สธ.กำลังยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ให้เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนยังเข้าไม่ถึงสถานพยาบาลเต็มประสิทธิภาพครบทุกกลุ่ม ปัจจุบันจึงพัฒนาระบบ DMIND ซึ่งเป็น AI เพื่อให้คำปรึกษาผู้ประสบปัญหาโรคซึมเศร้าโดยกรมสุขภาพจิต ทำหน้าที่คัดกรองผู้มีภาวะซึมเศร้าเบื้องต้น ผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม ช่วยลดภาระแพทย์และนักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ก่อนส่งเข้าระบบส่งต่อการรักษา ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 200,000 ราย อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากมีแอปพลิเคชั่นคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงทีมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเขินอายในการพบแพทย์ ซึ่งตนจะพยายามผลักดันให้มีการพัฒนาเรื่องนี้ต่อไป

 

โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในโครงการต่าง ๆ ก็เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้สามารถเข้ารักษาได้ทุกสถานพยาบาล ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยเฉพาะการเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาด้านแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งโรคมะเร็งเป็นหนึ่งในการรักษาเฉพาะทางเช่นกัน

 

ด้านการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล ปัจจุบันกำลังเชื่อมต่อข้อมูลแต่ละกองทุน ซึ่งมีข้อจำกัดในการเบิกจ่าย สธ.ในฐานะผู้กำกับดูแลสถานพยาบาลทุกแห่งที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย จึงต้องแก้ไขให้สถานพยาบาลทุกแห่งมีการเบิกจ่ายอย่างรวดเร็วตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งมีการนำร่องระยะแรกไปแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ปัจจุบันเพิ่มอีก 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำพู นครราชสีมา อำนาจเจริญ พังงา โดยในพื้นที่ดังกล่าว ประชาชนสามารถเข้ารักษาสถานพยาบาลใดก็ได้ เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาไว้ทั้งหมด

 

ส่วนจังหวัดอื่น ๆ อยู่ระหว่างสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลอย่างถูกกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สธ. สปสช. ร่วมกันบริหารข้อมูล นำไปสู่การเบิกจ่ายที่รวดเร็วของแต่ละกองทุนต่อไป