วันที่ 8 มีนาคม 2567 นายธนกร วังบุญคงชนะ   สส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงานที่เสนอโดยนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทำให้ถูกสส.ก้าวไกลออกมาแถลงข่าวตำหนิว่าสส.ฝั่งรัฐบาลเห็นแก่นายทุน ว่า  การพิจารณากฎหมายทุกฉบับ คนเป็นสส.ต้องพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบคอบ  แต่ในขณะเดียวตนและสส.เสียงข้างมาก ยังได้ลงมติเห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับของนายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย และฉบับของน.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลด้วย แต่เหตุใดนายเซียและสส.พรรคก้าวไกล ยังออกมาแถลงข่าวตำหนิโจมตีสส.ฝั่งรัฐบาลอยู่

จึงมองได้ว่า เป็นการจ้องแต่จะเล่นแง่สร้างดราม่าหวังผลทางการเมืองอย่างเดียว โดยไม่สนใจเนื้อหารายละเอียด  และไม่ได้เห็นความสำคัญของผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็กว่าจะสามารถแบกรับต้นทุนการผลิตได้หรือไม่ แบบนี้ใช้ไม่ได้  การจะเสนอกฎหมายใด ก็ควรทำให้ทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความสมดุล ไม่สุดโต่งจนเกินไป  ให้เกิดความสมเหตุสมผล สามารถอยู่ได้ทั้ง SMS ผู้ประกอบการรายย่อยและนายจ้างเพราะหากผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องปิดกิจการลงเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว  ท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบมาถึงผู้ใช้แรงงานและลูกจ้างก็จะถูกเลิกจ้างตามมา  จึงเป็นเหตุผลที่สส. ฝั่งรัฐบาล เห็นด้วยกับร่างคุ้มครองแรงงานของพรรคภูมิใจไทยเพื่อจะสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความสมดุลเข้มแข็งไปพร้อมกัน ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

ทั้งนี้ ตนมองว่าการที่สส.พรรคก้าวไกลออกมาโจมตีสส.ฝั่งรัฐบาลกล่าวหาว่า เข้าข้างนายทุน ไม่เห็นแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงานนั้น เป็นการกล่าวหากันเกินไป และตนก็เป็นลูกชาวบ้านคนธรรมดาเหมือนกับทุกท่าน ไม่ได้เห็นแก่นายทุนอย่างที่ถูกโจมตี ยืนยันว่ารัฐบาลเราคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้ใช้แรงงานทุกคนควรจะได้รับ จึงได้ลงมติเห็นชอบ ทั้ง 2 ร่างของสส.พรรคภูมิใจไทยและพรรคก้าวไกลด้วย

“จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้เราจะเห็นชอบ 2 ร่างของทั้งสส.วรศิษฎ์ ภูมิใจไทยและสส.วรรณวิภา ของก้าวไกลแล้วก็ตาม แต่ยังมีการออกมาแถลงข่าวตำหนิโจมตี สส.ฝั่งรัฐบาลว่าเข้าข้างนายทุนอยู่  ทำให้มองได้ว่า สส.เซียและสส.ของพรรคก้าวไกล จงใจสร้างดราม่าเพื่อหวังนำมาขยายผลตีกินทางการเมือง มากกว่าที่จะช่วยผู้ใช้แรงงานอย่างจริงใจหรือไม่   เพราะถ้าต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกจ้างผู้ใช้แรงงานจริงๆ ก็ต้องพัฒนาทั้งระบบ คำนึงถึงเรื่องต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการรายย่อย SME ด้วย  แต่เท่าที่ดูการกระทำเหมือนย้อนแย้งกับคำพูด“  นายธนกร กล่าว