วันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ตัวแทนนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ และนายอธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์และสื่อมวลชนอิสระ ได้เดินทางมายื่นคำแถลงต่อศาลอาญา เพื่อขอให้ศาลพิจารณาไม่รับฝากขัง "นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์" ผู้ต้องหาคดี ม.116 บีบแตรใส่ขบวนเสด็จ ซึ่งในวันนี้พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ยื่นขอฝากขัง "ตะวัน-แฟรงค์" เป็นผัดที่ 3 ด้านทนายความยื่นคัดค้านและขอให้เบิกตัวผู้ต้องหาทั้งสองมาศาล

ในคำแถลงของนายสุลักษณ์ ระบุว่า “ข้าพเจ้า สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักเดอะมิดเดิ้ล เทมเปิล ข้าฯ เชื่อมั่นว่าโดยหลักแห่งนิติปรัชญา ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และ บุคคลจะต้องมีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน การควบคุมกักขังที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องทำเพื่อป้องกันภยันอันตรายอันใดหรือการหลบหนีเท่านั้น ต้องมีการประกันอิสรภาพของบุคคลอย่างเคร่งครัด และจะตีความกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นหลักไม่ได้

ข้าฯ เห็นว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนนี้ เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่พนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องเป็นคดีต่อศาล และการต่อสู้ของเยาวชนสองคนนี้เห็นชัดว่าเป็นกรณีของการต่อสู้ทางความคิด ไม่มีเหตุผลใด ทั้งทางมนุษยธรรมและทางหลักกฎหมายที่จะควบคุมขังเด็กไว้ตามคำร้องขอของรัฐ ขอศาลได้ปลดปล่อยเด็กเหล่านี้ ตามอำนาจที่ศาลยุติธรรมมีอยู่ เพื่อให้เขามีสิทธิต่อสู้ทางความคิด และมีสิทธิ์ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หากผิดก็ลงทัณฑ์ หากถูกก็ให้ยกฟ้อง และให้ปล่อยเด็กโดยทันที ขอแสดงความนับถือ“

ด้านนายอธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง ยื่นคำแถลงต่อศาลว่า ”ข้าฯ นายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ ผู้จัดรายการโทรทัศน์ นักสื่อสารมวลชน ข้าฯขอทำคำแถลงฉบับนี้ขึ้นต่อศาลอาญา มีเนื้อหาดังจะกล่าวต่อไปนี้ ข้าฯ เชื่อว่าไม่มีใครอยากย้อนกลับไปอยู่ภายใต้ระบบเก่า และประเทศไทยจะต้องตั้งหลักจากประชาธิปไตยโดยมีหลักใหญ่ใจความคืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และข้าฯเชื่อว่าองค์กรตุลาการเป็นเสาหลัก ซึ่งรับประกันความปลอดภัยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหล่านี้ ดำรงตนเป็นจุดเชื่อมโยงที่ปกปักพิทักษ์รักษาให้ความปลอดภัยระหว่างประชาชนกับการปกครอง

ข้าฯขอยืนยันว่าการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลนั้นเป็นสิทธิของบรรดาผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา การจำคุกกักขังควบคุมบุคคลใดเกินกว่าที่สมควรตามเหตุผลที่กฎหมายกำหนดนั้น จะกระทำมิได้ ด้วยความเคารพต่อศาลอาญา ข้าฯเห็นว่าการรับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองในคดีนี้ไว้ ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวออกไป ทั้งที่ทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์หลบหนี ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่บริเวณหน้าศาลอาญา และโดยที่ทั้งสองไม่ใช่บุคคลที่จะสามารถเข้ายุ่งเหยิงพยานหลักฐานและกระทำการขัดขวางสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนนั้น เป็นกรณีที่เป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมและต่อตัวเยาวชนทั้งสองโดยอาจเป็นการด้อยค่าสิทธิมนุษยชนของพวกเขา

ในการพิทักษ์รักษากระบวนการยุติธรรมและดำรงไว้ซึ่งระบบอันที่พวกเราผู้ใหญ่และปัญญาชนทั้งหลายเป็นเสาหลักในการปกปักดูแลประชาชนนั้น เราเพิกเฉยละเลยต่อการพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนไปไม่ได้ และเราต่างเรียนรู้หลักการตามนิติปรัชญาเพื่อนำมาใช้สร้างความเป็นธรรมให้ทุกชนเท่าเทียมกัน

ขอเรียนท่านผู้พิพากษาโปรดพิจารณาไม่รับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองนี้ต่อไป และหากผู้พิพากษาจะพิจารณาให้มีการรับฝากขังจองจำผู้ต้องหาทั้งสองนี้ไว้ ก็ขอให้ผู้พิพากษาผู้พิจารณาปล่อยชั่วคราว พิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวเยาวชนทั้งสองและพิจารณาให้ความเป็นธรรมปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทางความคิดทั้งหลายเมื่อคราวที่ท่านมีอำนาจพิจารณาด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด“

ล่าสุด เวลา 11.23 น. ศาลอาญาได้นัดไต่สวนในห้องพิจารณา 802 โดยผู้ต้องหาทั้งสองไม่ได้ถูกเบิกตัวมาศาลตามที่ทนายยื่นคำร้อง โดย ‘แฟรงค์’ ได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์จาก รพ.ราชฑัณฑ์ ด้าน ‘ตะวัน’ ทัณฑสถานหญิงกลางแจ้งว่าผู้ต้องหาย้ายไป รพ.ธรรมศาสตร์ จึงไม่สามารถวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้ได้และศาลอาญาได้ไต่สวน

โดย พ.ต.ต.ธราดล วงศ์เจริญยศ อ้างเหตุต้องขอฝากขังตะวัน-แฟรงค์ต่อ ว่ายังต้องสอบพยานอีก 2 ปาก และรอผลตรวจวิดีโอจากกองพิสูจน์หลักฐาน แต่รับว่าผู้ต้องหาไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ หลังไต่สวนเสร็จ ศาลนัดฟังคำสั่งเวลา 14.00 น. โดยแจ้งว่าตามระเบียบศาล ต้องปรึกษารองอธิบดีก่อน เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ

 

#ตะวัน #แฟรงค์ #ขบวนเสด็จ