สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
อาทิตย์นี้เราจะมาพูดคุยถึงแนวทางในการพิจารณาเอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์ นับเป็น พิมพ์ที่ 3 ใน 7 พิมพ์ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม 1 ใน 3 ตระกูลพระสมเด็จ ที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) โดยได้บรรจุกรุไว้ในองค์พระเจดีย์วัดบางขุนพรหม
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์ เป็นพระเครื่องที่มีพุทธลักษณะเฉพาะเช่นเดียวกับ พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ทรงเจดีย์ กล่าวคือ พุทธศิลปะโดยรวมขององค์พระภายใต้ซุ้มครอบแก้ว จากพระเกศจดฐานชั้นล่าง จะมีรูปทรงคล้ายกับพระพุทธเจดีย์แบบลังกาในพระบวรพุทธศาสนา อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ “ทรงเจดีย์”
เอกลักษณ์แม่พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์ นี้ จะมีความใกล้เคียงกับ พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ทรงเจดีย์ ค่อนข้างมาก จะผิดเพี้ยนกันที่รายละเอียดแม่พิมพ์ที่แตกต่างกันไปบ้างเท่านั้น นอกจากนี้ก็เป็นเนื้อหามวลสารที่จัดสร้างพระซึ่งจะค่อนข้างแก่ปูนขาวหรือปูนเปลือกหอยมากกว่าพระสมเด็จวัดระฆังฯ จุดการพิจารณาตำหนิแม่พิมพ์ มีดังนี้
- องค์พระประธานแลดูเล็ก ช่วงพระศอเป็นศิลปะนูนต่ำมาก องค์ที่กดพิมพ์ไม่เต็มแทบมาปรากฏพระศอเลย
- ตัดขอบจากด้านหน้าขององค์พระไปด้านหลัง ทำให้ด้านหน้าทั้ง 4 ด้านเกิดรอยเนื้อปลิ้นขึ้นจากการตัดขอบด้วยตอก และมีร่องรอยปู่ไต่โดยทั่วองค์พระ ไม่เหมือนพระสมเด็จวัดระฆังฯที่ปรากฏเฉพาะที่ขอบพระเท่านั้น
- เส้นขอบแม่พิมพ์ด้านหน้าทั้งสี่ด้าน จะปรากฏตั้งขึ้นจากพื้นขององค์พระเป็นสันคม
- ปรากฏพระกรรณอยู่รำไร แต่โดยส่วนใหญ่จะมองไม่เห็น เนื่องจากขี้กรุขึ้นเต็ม หรือกดพิมพ์ม่เต็ม
- พื้นที่บริเวณพระอังสา (หัวไหล่) ด้านซ้ายมือขององค์พระจะหนากว่าด้านขวา
- ไม่ปรากฏเส้นอังสะและเส้นสังฆาฏิ
- หัวฐานชั้นที่ 3 ด้านขวามือขององค์พระมีลักษณะคล้ายหัวเรือสำปั้น
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์ จะมีพิมพ์ด้านหลังเพียงพิมพ์เดียว คือ พิมพ์หลังเรียบ โดยพิมพ์ด้านหน้าแบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ที่ 1 และ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ที่ 2 ครับผม