วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล โดยสืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิสภาพความเป็นอยู่ของคนงานหญิงโรงงานทอผ้าในสหรัฐอเมริกาที่มลรัฐนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ (พ.ศ. ๒๔๐๐) หรือประมาณช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ ของไทยเรา และผลก็เป็นไปตามเรื่องราวที่ต้องเป็นคือไม่มีการต่อสู้ใดที่ชัยชนะจะได้มาโดยไม่ต้องแลกกับการสูญเสีย การต่อสู้ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน มีการลอบเผาโรงงานขณะที่มีการประท้วงอยู่ภายใน ทำให้คนงานหญิงที่ประท้วงเสียชีวิตไปจำนวน1๑๑๙ คน ผลจากการนี้ทำให้มีการตื่นตัวในเรื่องของการพยายามเรียกร้องสวัสดิการของคนงานหญิงในที่ต่าง ๆ รวมทั้งเมืองใหญ่อย่างชิคาโกด้วย ต่อมาก็มีการรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีในประเทศต่าง ๆ จนเกิดการกำหนดให้วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากลโดยทางสหประชาชาติก็ยอมรับและส่งเสริมสนับสนุนด้านของสิทธิสตรีอย่างเต็มที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยเน้นหนักเกี่ยวกับความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน การไม่กีดกันทางเพศ เปิดโอกาสในหน้าที่ทางการงานอย่างกว้างขวาง
ความจริงแล้ว การมีเพศสภาพที่แตกต่างกันนั้น ไม่ได้ทำให้มีความเหนือกันระหว่างเพศแต่อย่างใด เพียงแต่เพศหญิง เพศชาย ต่างก็มีดีไปคนละอย่าง อยู่ที่ว่าสถานการณ์นั้น ๆหรือสภาพแวดล้อมขณะนั้นต้องการคุณสมบัติของบุคคลด้านใดเป็นหลัก ในอดีตเป็นเรื่องของการทำศึกสงคราม มีการใช้กองกำลังเพศชายเป็นหลัก หญิงถูกกีดกันไม่ให้มีโอกาสฝึกอาวุธหรือร่วมรบ แต่ก็ต้องยอมรับว่า แม้หญิงจะมีบทบาทอยู่เบื้องหลัง แต่ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินการต่าง ๆ หรือในสถานการณ์ที่ต้องร่วมสู้รบ เช่น กำลังพลชายหญิงของชาวบ้านบางระจันที่สู้ศึกพม่าในอดีต หญิงก็ต้องร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชายเช่นกัน
ในอดีตนั้น ชายไทยต้องสังกัดมูลนาย เป็นไพร่ในสังกัด เป็นกองกำลังออกรบเวลามีศึก นอกเวลาศึกก็ถูกเกณฑ์ไปเข้าเวรทำงานโยธา ทำงานหลวง เป็นเวลาปีละ ๖ เดือน แต่ไม่ใช่เข้าเวรติดต่อกันรวดเดียวเป็นเวลา ๖ เดือน การเข้าเวรเป็นการเข้าเดือนเว้นเดือน คือเข้าหนึ่งเดือน ก็กลับมาพักหนึ่งเดือน แล้วก็กลับไปเข้าเวรใหม่ ระยะเวลาหนึ่งเดือนที่พักจึงต้องตักตวงความสุขอย่างเต็มที่ ดื่มเหล้า เล่นการพนัน ไม่ได้ใช้เวลาในการทำนา ทำสวนหรือกิจการงานต่าง ๆ ของครอบครัวแต่อย่างใด กลายเป็นปัญหาการขาดแคลนกำลังในการผลิต ก็ได้เพศหญิงนี่เองที่คอยดูแลประคับประคองให้งานสวน ไร่ นา ยังพอได้ทำให้เกิดประโยชน์บ้าง หญิงในอดีตจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจของชาติ เลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดี ดูแลคนแก่คนเฒ่า ทำมาค้าขายหาเลี้ยงครอบครัว
ในยุคปัจจุบัน หญิงชายต่างต้องออกทำงานนอกบ้านด้วยกันทั้งคู่ แต่ในแง่ของการจัดการบ้านเรือน ให้การอบรม เลี้ยงดูบุตรก็ยังตกหนักที่หญิงเป็นหลักอยู่ดี เกิดเป็นหญิงจึงค่อนข้างที่จะต้องเหนื่อยหนัก รับบทต่าง ๆ มากมาย การมีทัศนคติในทางผิดต่อเพศหญิงจึงต้องมีการปรับกันใหม่ จะเป็นช้างเท้าหน้า หรือเท้าหลังก็เป็นในบางเรื่อง บางสถานการณ์เท่านั้น แต่ในสภาวะปกติแล้วเป็นเรื่องที่ต้องเดินไปด้วยกัน ก้าวไปด้วยกัน จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ติดตามมา ทัศนะหรือมุมมองที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและนำมาทดแทนการมองในลักษณะที่ว่าเพศใดเหนือกว่าเพศใด ยิ่งหากพิจารณาโดยสภาพทางสรีระแล้ว ยิ่งต้องให้เกียรติ ให้ความทะนุถนอมเพศหญิงเป็นพิเศษ หากมีความรักความเข้าใจกันก็จะทำให้เกิดการยอมรับและเห็นใจกันมากขึ้น ดังบทกลอนของท่านสุนทรภู่ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี บทที่ว่า
ด้วยวิสัยในประเทศทุกเขตแคว้น
ถึงโกรธแค้นความรักย่อมหักหาย
อันความจริงหญิงก็ม้วยลงด้วยชาย
ชายก็ตายลงเพราะหญิงจริงดังนี้
ดังนั้น การตระหนักถึงความสำคัญของสตรี การเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ที่สตรีประสบอยู่ เป็นเรื่องที่จะต้องมีการยอมรับและติดตามแก้ไขอย่างต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น มิใช่เป็นเพียงการมารำลึกถึงวันสตรีสากลวันนี้เพียงวันเดียวเท่านั้น
โดย: ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง