จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปีสำหรับโครงการเอเชียนซัมเมอร์โปรแกรมแลกเปลี่ยนความรู้ ของนักศึกษาทุนนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ (The Prime Minister's Scholarship for Asia; PMSA) แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของไทยและนิวซีแลนด์ โดยความร่วมมือของหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ (Education New Zealand : ENZ) ร่วมกับ สถาบันการศึกษาของไทยและนิวซีแลนด์
ในปีนี้ยังได้มีการลงนามความร่วมมือ MOU แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และต่อยอดความสัมพันธ์ด้านการศึกษาระหว่าง มหาวิทยาลัยลินคอล์น และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ แกน หัวหน้าภาควิชาธุรกิจการเกษตรและการพาณิชย์ มหาวิทยาลัยลินคอล์น(Prof. Christopher Gan, Head of Department, Faculty of Agribusiness and Commerce) ลงนามร่วมกับ ผศ.ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ผู้แทนอธิการบดี) และนางสาวจารุวรรณ พงษ์จารุวัฒน์ ผู้อำนวยการด้านการศึกษา หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน
นางสาวจารุวรรณ พงษ์จารุวัฒน์ เปิดเผยว่า การศึกษาของนิวซีแลนด์มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้จากประสบการณ์จริง จึงเป็นโอกาสที่ดีมากของน้องๆนักศึกษาทุน PMSA ที่เดินทางมาแลกเปลี่ยนความรู้ในประเทศไทยครั้งนี้ที่ได้มาสัมผัสประสบการณ์จริง เยี่ยมชมสถานที่จริง นอกจากน้องๆจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านภาคธุรกิจการเกษตรที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นในการเป็นเมืองเกษตรกรรม ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาและบริบทภาคธุรกิจการเกษตร(Agribusiness) ของนิวซีแลนด์
นักศึกษาทุน PMSA ในปีนี้รวมทั้งสิ้น 33 คน แบ่งเป็นสองคณะ คือ มาจากมหาวิทยาลัยลินคอล์น (Lincoln University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของนิวซีแลนด์และมีความโดดเด่นทางด้านภาควิชาธุรกิจการเกษตร จำนวน 16 คน และจาก University of Auckland ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของนิวซีแลนด์อีก 17 คน โดยน้องๆได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบของการบรรยาย และการเข้าเยี่ยมชมสถานที่จริง อาทิ
ฟาร์มปลูกผักปลอดสารพิษระบบปิด DiStar Fresh Farm ที่ใช้เทคโนโลยีการปลูกพืชไร้ดินในห้องปลอดเชื้อและเทคโนโลยีการเกษตรควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อปลูกผลผลิตคุณภาพสูงตลอดทั้งปี
เยี่ยมชมการผลิตไวน์จากมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสานซึ่งเป็นผลผลิตจากชุมชน และเยี่ยมชมไร่องุ่นและโรงไวน์ GradeMonte ที่นครราชสีมา ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของนิวซีแลนด์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการผลิตไวน์คุณภาพ
เยี่ยมชมฟาร์มแมลงโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ผักปลอดภัยจากสารเคมีในจังหวัดขอนแก่น ร่วมสัมผัสประสบการณ์ตรงที่วิสาหกิจชุมชนบ้านแพง เยี่ยมชมเรือนกระจกและสวนพฤกษศาสตร์ ปตท. จังหวัดระยอง เรียนรู้ป่าเขตร้อนที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เรียนรู้การทอผ้าไหมไทยและเครื่องแต่งกายแบบไทยอีสาน
เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย เรียนวิชา “มวยไทย” ที่ภาควิชาพลศึกษาและกีฬา วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมเข้าร่วม “Master Class” เรียนรู้วิธีทำอาหารไทย ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประทับใจกับเอกลักษณ์ความเป็นไทยกับการแต่งกายด้วยชุดไทยที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนบางกอบัว บางกะเจ้า ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นสถานที่กำจัดขยะ และได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนคาร์บอนต่ำที่เจริญรุ่งเรืองอันดับต้นๆของไทย โดยนักศึกษาล่องเรือชมวิถีชาวบ้านผ่านอุโมงค์ต้นจาก (ปาล์ม) ซึ่งเป็น "ปอดสีเขียว" ของชุมชน พร้อมเรียนรู้ศิลปะการมัดย้อมโดยใช้สีธรรมชาติที่สกัดจากพืชพรรณโดยรอบ
บ้านเครื่องปั้นดินเผาไทย-มอญ และเกาะเกร็ด เรียนรู้การทำเครื่องปั้นดินเผาแบบมอญแบบมืออาชีพที่บ้านดินมอญ พร้อมเยี่ยมชมวัดท้องถิ่น วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเกาะเกร็ด
ชุมชนถ้ำรงค์ จ.เพชรบุรี: หมู่บ้านที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคของอาเซียนในด้านแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน โดยมีสวนตาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้เรียนรู้ศิลปะการเก็บน้ำตาล ทำขนมตาล และงานฝีมือแบบดั้งเดิมที่ทำจากใบตาล
พิพิธภัณฑ์ปานถนอม (กลุ่มไทยทรงดำ-กลุ่มชาติพันธุ์): เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ประเพณี และความเชื่อของชาวไทยทรงดำ
ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง Urban Studies Lab: เรียนรู้ย่านประวัติศาสตร์ที่เผชิญกับความท้าทายสมัยใหม่ ผ่านเวิร์กช็อปแบบอินเทอร์แอกทีฟ อาทิ ขยะและการพัฒนาชุมชน จัดแสดงแนวคิดริเริ่มในการรีไซเคิลที่สร้างแรงบันดาลใจ และโรงละครชาตรีอันโด่งดัง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์วัฒนธรรม
ลอเรน วัตสัน (Lauren Watson) นักศึกษาปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขานโยบายและการวางแผนสิ่งแวดล้อม (Bachelor of Environmental Policy and Planning; Honours) คณะธุรกิจการเกษตรและการพาณิชย์ มหาวิทยาลัยลินคอล์น กล่าวว่า “การได้รับทุนการศึกษา PMSA และได้มีโอกาสเดินทางมาเรียนรู้เกี่ยวกับภาคธุรกิจการเกษตรและแนวทางการทำธุรกิจการเกษตรต่างๆในประเทศไทยครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ทำให้ได้เรียนรู้ถึงแนวทางการทำธุรกิจ ช่วยเพิ่มพูนความรู้และสามารถนำไปต่อยอดสร้างโอกาสการส่งออกที่สำคัญในนิวซีแลนด์ ที่มหาวิทยาลัยลินคอล์นเปิดกว้างมากทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆหลักสูตรใหม่ๆ ถึงแม้ว่า Lincoln University จะมีชื่อเสียงทางด้านสาขาธุรกิจการเกษตร แต่ยังมีสาขาวิชาอื่นๆ เช่น สาขาสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ และสาขาอื่นๆ ที่ช่วยสร้างโอกาสและเสริมความรู้เพิ่มเติมให้กับผู้คนจำนวนมากที่ทำปริญญาธุรกิจเกษตรกรรม เพราะเป็นวิชาเลือกที่สามารถเลือกได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสมากมายที่จะได้ลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หลักสูตรใหม่ๆ
เบรดี้ บัลลาร์ด (Brady Ballard) กำลังศึกษาอนุปริญญาสาขาการจัดการฟาร์ม (Diploma Farm Management) ) คณะธุรกิจการเกษตรและการพาณิชย์ มหาวิทยาลัยลินคอล์น เปิดเผยว่า ตนมีความพยายามอย่างมาก ทุ่มเทอย่างหนักเพื่อให้ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในตัวแทนนักเรียนทุนนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์มายังประเทศไทย ถือเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมากที่ได้ออกไปชมสถานที่ต่างๆมากมาย ได้สัมผัสกับระบบในต่างประเทศที่แตกต่างกับที่นิวซีแลนด์ ได้ชมการเกษตรกรรมที่หลากหลายในฟาร์มแต่ละแห่ง และเห็นว่าฟาร์มของพวกเขาแตกต่างไปจากเราอย่างไร และพวกเขาสามารถเลี้ยงดูครอบครัวด้วยสิ่งที่พวกเขามีได้อย่างไร ชมวิถีชีวิต และชื่นชมว่าผู้คนที่นี่น่ารักและต้อนรับทุกคนเป็นอย่างดี ถือเป็นประสบการณ์ที่วิเศษมากๆครับ
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที www.studywithnewzealand.govt.nz