ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยให้การเกษตรมีความก้าวหน้าและสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการเกษตร พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงใช้ในการทำเรือกสวน ไร่นา ตลอดจนการทำปศุสัตว์ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่ส่งออกผลิตผลทางการเกษตรไปทั่วโลก และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเป็นสถาบันการศึกษาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม จึงทรงมีแนวคิดสร้างนวัตกรการเกษตรเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการเกษตรไทยให้มีการพัฒนาตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านการเกษตรสร้างมูลค่า เกษตรอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงริเริ่มหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเทคโนโลยีเกษตรนวัต ระดับปริญญาตรี 4 ปี ภายใต้การดูแลของสำนักวิชาเกษตรนวัตขึ้น เพื่อต่อยอดความรู้จากสาขาวิชาเกษตรนวัต ที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตร และประกาศนียบัตรชั้นสูงที่มีอยู่เดิม
รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า “ในปัจจุบันการทำการเกษตรที่ดีเกษตรกรควรมีทักษะด้านการจัดการและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพ ได้ผลิตผลเพิ่มมากขึ้น และขยายตลาดได้เป็นวงกว้าง การเปิดหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีเกษตรนวัตเป็นหลักสูตรต่อยอดจากสาขาวิชาเกษตรนวัต ที่เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เพื่อให้ผู้เรียนได้ต่อยอดองค์ความรู้และนักเรียน นักศึกษา ที่สนใจด้านเกษตรสมัยใหม่เข้าศึกษาต่อ เป็นโอกาสที่ดีในการผลิตนวัตกรการเกษตรรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรและคิดค้นนวัตกรรม โดยแนวโน้มใน 10 – 20 ปีข้างหน้า การเกษตรจะขยายตัวมากขึ้นด้วยนโยบายของภาครัฐ รวมถึงประชาชนตระหนักถึงสุขอนามัยของชีวิต การเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าและปลอดสารพิษ และในขณะเดียวกันประเทศไทยยังเป็นครัวโลก “Kitchen of the World” การเตรียมความพร้อมสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตด้านการเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ”
นายสุรัตน์ จั่นแย้ม ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านการอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่า “หลักสูตรการเรียนการสอนสาขาเทคโนโลยีเกษตรนวัต สถาบันได้รับความร่วมมือจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน สถานประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ด้านไอที ด้านเครื่องจักรกลการเกษตร ด้านบริหารจัดการ ร่วมสร้างหลักสูตร โดยผู้เรียนจะได้รับสมรรถะด้านการเกษตร ด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรกล ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และด้านการสื่อสารและบริหารจัดการ เพื่อให้ได้องค์ความรู้รอบด้านไม่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่งสำหรับนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน 3 ปีแรกผู้เรียนจะได้ศึกษาภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจากอาจารย์ และผู้เชียวชาญ เช่น นวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการผลิตพืช นวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการปศุสัตว์ เครื่องจักรกลการเกษตร ระบบ IoT ฟาร์มอัจฉริยะ การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเกษตร เป็นต้น และปีที่ 4 จะได้ไปฝึกงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีและทักษะเฉพาะจากการฝึกในสถานประกอบการ เมื่อจบการศึกษาผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพได้ เช่น เกษตรกรอัจฉริยะ ผู้จัดการฟาร์มอัจฉริยะ ที่ปรึกษาฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ นักวิชาการหรือนักวิจัยด้านการเกษตร ผู้ประกอบการธุรกิจฟาร์มเกษตร รับราชการด้านการเกษตร หรือผู้พัฒนาซอฟแวร์ในบริษัทธุรกิจการบริการ หรือเข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการเครือข่ายของสถาบันเนื่องจากมีสมรรถนะที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน”
ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าศึกษาต่อได้ที่ https://reg.cdti.ac.th/ ตั้งแต่วันนี้ – 12 มิถุนายน 2567 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.cdti.ac.th โทร 0-2121-3700 ต่อ 1231