สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์  กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

ทำไปทำมา ความขัดแย้งระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในที่ดิน ส.ป.ก.- อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่เคยคิดว่าน่าจะ “คุยกันง่าย” เพราะ 2 หน่วยงานดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ 2 รัฐมนตรีที่มาจากพรรคเดียวกัน คือพลังประชารัฐ แต่มาถึงวันนี้ กลับส่อเค้าจะกลายเป็นศึกยืดเยื้อ เมื่อนายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาธิการสปก.เข้าแจ้งดำเนินคดีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กับพวก โดยกล่าวหาว่า ได้กระทำการซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่หมุดสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  ซึ่งได้ฝังไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดินโครงการที่จำแนกออกจากเขตป่าไม้ถาวรป่าเขาใหญ่อันเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก.ในพื้นที่บริเวณบ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา …*…

การแสดงท่าทีใช้กฎหมายกับนายชัยวัฒน์ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินฯไปสร้างความเคลือบแคลงใจต่อผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตร เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. และ พล.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. เพื่อยื่นเรื่องร้องให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ส.ป.ก. หลังเกิดข้อพิพาทกรณีออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 จังหวัดนครราชสีมา โดยมิชอบ เนื่องด้วยการจัดสรรที่ดินตามที่เห็นในข่าว ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ดินดังกล่าวว่าเป็นป่า ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปี 2564 ประกอบระเบียบ 2566 ที่เป็นลักษณะห้วย หนอง และ บึง จะไม่สามารถจัดให้เป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ได้ ในส่วนกระทรวงเกษตรฯ ขอแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน ที่มีจนท.ปฏิบัติโดยมิชอบ ออกเอกสารส.ป.ก.ในพื้นที่ป่าก่อนที่จะได้รับการตรวจสอบ  รวมไปถึงขอโทษกรมอุทยานฯ ที่มีเอกสารแอบอ้างสิทธิ์ในการออกเอกสาร …*…

อีกทั้งในการประชุมคณะกรรมาธิการ การที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อไม่กี่วันมานี้ ที่ได้เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าชี้แจงปัญหาเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินทับซ้อน พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็มีข่าวว่าทางหน่วยงานสปก.จังหวัดยอมรับเองว่า กระบวนการในการตรวจสอบสิทธิฯ ได้รับการท้วงติงจากหน่วยงานอื่นในการทำรังวัดที่ดิน และทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนผู้ใหญ่บ้าน ก็ไม่ทราบเรื่อง จนนำไปข้อสังเกตุว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในพื้นที่กล้าทำขนาดนั้นเชียวหรือ มีขบวนการอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ …*…

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่มีการมองว่า การแจ้งความฟ้องร้องผู้อำนวยการสำนักอุทยานฯและพวก อาจเป็นการแก้ขวยแทน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ไม่สามารถจบเรื่องนี้ได้แบบหล่อๆ หลังออกมาแถลงว่ากรมแผนที่ทหาร ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รายงานผลการตรวจสอบแนวเขตที่ดินทับซ้อนดังกล่าว มีผลการตรวจสอบให้แปลงปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. ไม่ทับซ้อน และอยู่นอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯจัดทำพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างพื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยกันพื้นที่ดังกล่าวให้จัดทำเป็นป่าในเขตปฏิรูปที่ดิน ทั้งนี้จากกรณีที่เกิดขึ้นทั้ง 2 หน่วยงานไม่มีใครผิดใครถูก เนื่องจากถือแผนที่คนละฉบับ และรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมแผนที่ทหาร เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำโครงการ One Map เพื่อตรวจสอบและป้องกันการเกิดข้อพิพาทอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต ...*...

เพราะไม่เพียงถูกตั้งคำถามกลับจากผู้อำนวยการสำนักอุทยานฯว่า ‘แนวกันชน’ เป็นแนวหลอกลวงหรือไม่ พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า  อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มี พ.ร.ฎ. จะเอาช่องว่างนั้นเป็นแนวกันชนไม่ได้ ขอยืนยันด้วยหลักฐานที่เรามี และใช้ในชั้นศาลมา 30 ปีแล้ว …*…

 “ที่มีการอ้างว่าจะนำพื้นที่แนวกันชนนี้ไปให้ชาวบ้านปลูกป่า ตรงนั้นเป็นแนวของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าบริสุทธิ์ใจที่ออกมาแถลงข่าวแบบนั้นก็รีบทำเลย ต้องเข้าใจว่า ‘แนวกันชน’ ในมาตรา 18 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ ทั่วประเทศเป็นเส้นสีฟ้า ไปดูได้เลยว่าแนวกันชนห่างจากอุทยานแห่งชาติออกไป 3 กิโลเมตร ไม่ใช่เอาช่องว่างของป่าหรือเส้นมาแบ่งเขตว่าไม่ได้อยู่ในอุทยานและเป็นแนวกันชน มันไม่ได้ พร้อมยืนยัน 100% ว่า เป็นพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานฯระบุ ...*...

 เมื่อบวกรวมกับภาพจากสื่อที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ายังมีสภาพเป็นป่าดิบ มีร่องรอยของสัตว์ป่าหลายชนิดเข้ามาอาศัยหากิน จึงทำให้มีเสียงเชียร์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการทวงคืนป่ามันเป็น”สมบัติชาติ”ดังสนั่นทั่วบ้านทั่วเมือง และทำให้ประเด็นนี้บานปลายเป็นเรื่องการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ …*…

 และเชื่อว่าจะมีกระแสเรียกร้องให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเข้ามารับผิดชอบ หากผลการตรวจสอบเป็นที่ชัดเจนว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะปฏิรูปที่ดินฯให้เข้าทำกินในพื้นที่ปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเกษตรกรในพื้นที่ หากแต่เป็น “นอมินี”ของนายทุนหรือนักการเมืองบางรายเข้ามาหาประโยชน์จากนโยบาย”เปลี่ยนส.ป.ก.เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร”อย่างที่มีการคาดการณ์กัน …*…

ที่มา:เจ้าพระยา (7/3/67)