วันที่ 6 มีนาคม 2567 เวลา 18.00 น. ณ บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดงานเขื่อนเจ้าพระยารำลึก 67 ปี นายสานนท์ เพ็ญแสง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า เพื่อย้อนรำลึกวิถีชีวิตเขื่อนเจ้าพระยา และสืบสานรักษาเขื่อนเจ้าพระยา พระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์ราชาราชวงศ์จักรี อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนเชิงสร้างสรรค์ การกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของชัยนาท สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชัยนาทร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท จึงจัดงานเขื่อนเจ้าพระยารำลึก 67 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 - 10 มีนาคม 2567 เริ่มเวลา 15.00 - 22.00 น.ทุกวัน ณ เขื่อนเจ้าพระยาชัยนาท ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท โดยมีการแสดงแสง สี เสียง ย้อนรำลึกวิถีชีวิตเขื่อนเจ้าพระยา นิทรรศการวิถีชีวิตเขื่อนเจ้าพระยา กิจกรรมล่องเรือชมวิถีชีวิตริมน้ำเจ้าพระยาชัยนาท การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าของดีจังหวัดชัยนาทกว่า 90 ร้าน มีการประดับแสงไฟ แสงสี สวยงาม การแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงดนตรี 
           

 นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท  เปิดเผยว่า เขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท เป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณคุ้งบางกระเบียน หมู่ที่ 4 ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ซึ่งในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2445 มีการริเริ่มในการสร้างเขื่อน เมื่อถึงปี พ.ศ. 2495 เริ่มก่อสร้างเขื่อนเจ้าพระยาและแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2500  ในสมัยรัชกาลที่ 9 จึงขนานนามว่าเขื่อน 5 แผ่นดิน และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด เขื่อนเจ้าพระยาเป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว 237.50 เมตร สูง 16.5 เมตร ติดตั้งบานประตูเหล็กรูปโค้งสูง 7.50 เมตร มีช่องระบายให้น้ำไหลผ่านขนาดกว้าง 12.50 เมตร จำนวน 16 ช่อง มีประตูน้ำสำหรับเรือสัญจรติดกับเขื่อนด้านขวา กว้าง 14 เมตร ยาว 170.50 เมตร เรือขนาดใหญ่สามารถผ่านเข้าออกได้

บนสันเขื่อนมีสะพานกว้าง 7 เมตร รับรถน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 20 ตัน และมีทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินสร้างบนคันกั้นน้ำซ้ายมือเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กว้าง 10 เมตร ยาว 1,000 เมตร เพื่อช่วยระบายน้ำเมื่อเกิดอุทกภัย อัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนสูงสุดประมาณ 3,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่การปล่อยน้ำจะควบคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อมิให้กระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพมหานคร  นอกจากนี้เขื่อนเจ้าพระยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก ที่เป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ภายในจังหวัด ด้วยศักยภาพของจังหวัดชัยนาท 8 อำเภอ 51 ตำบล มีแหล่งท่องเที่ยวจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ที่จะส่งผลประโยชน์ให้กับทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาท