คลังจ่อรื้อใหญ่ภาษีที่ดิน จี้แบงก์ผ่อนเกณฑ์ LTV อย่าห่วงแต่เสถียรภาพ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง ปาฐกถาพิเศษ "นโยบายภาครัฐต่อการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์" ในงานสัมมนาประจำปี 2567 "อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจไทย" ว่า ที่ผ่านมาภาครัฐเห็นความสำคัญของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวไปได้ โดยแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากผลการสนับสนุนของมาตรการภาครัฐ และการปรับตัวของผู้ประกอบการเอง ขณะเดียวกันมีสัญญาณที่ต้องระมัดระวัง ทั้งเศรษฐกิจจากต่างประเทศ ปัญหาสงคราม ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศเอง เช่น ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อของประเทศ จึงทำให้ต้องระมัดระวังผลของเศรษฐกิจภาพรวม
โดยกระทรวงการคลัง มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมาตรการด้านภาษี และมาตรการเงินที่สำคัญในปี 2567 ดังนี้ มาตรการด้านภาษี 1.ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยกู้ยืมสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัยไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระของผู้มีเงินได้ 2.การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ของภาษีที่ต้องเสียให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาไม่เกิน 3 ปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการระหว่างการก่อสร้าง
3.การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อใช้ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 4.การขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในปี 2567 เป็นการทั่วไปออกไปอีก 2 เดือน 5.มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย" ลดค่าจดทะเบียนการโอนจาก 2% เหลือ 1% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ที่จดทะเบียนในปี 2567
ทั้งนี้ขณะนี้กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้มีความเหมาะสม โดยพิจารณาจากผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร โดยจะมีการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาภาษีให้ตอบสนองผู้ผลิต ผู้ซื้อ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ภาษีที่ดิน จะต้องมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นประเด็นเชิงรายละเอียดทั้งอัตรา ความเหมาะสม และครอบคลุม โดยจะศึกษาร่วมกับมหาดไทย ให้เป็นผลบวกต่อภาคเอกชน และประชาชนมากที่สุด เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน คิดว่าในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันของไทยยังอ่อนแอ ก็ไม่ควรเอาภาษีมาซ้ำเติมประชาชน
ขณะที่มาตรการทางการเงิน 1.โครงการบ้านล้านหลัง" สนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ไม่สูง โดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรน วงเงิน 20,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี 2.โครงการสินเชื่อ Happy Life" สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง วงเงินกู้ต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 2.98% ต่อปี ดอกเบี้ยต่ำที่สุดในปีแรกที่ 1.95% ต่อปี
ส่วนการขอปรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) นั้นได้มีการหรือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาตลอด แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก ทั้งนี้ ยืนยันว่า มาตรการ LTV หรือมาตรการต่างๆที่จะมาสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถมองว่าเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนคนก่อหนี้ ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงได้ในมิติเดียว แต่ควรมองภาวะเศรษฐกิจที่จะเป็นผลบวกต่อการขยับมาตรการ
"การมองในมุมระมัดระวังก็จำเป็น แต่ต้องไม่กระทบศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องรักษาสมดุล ปัจจุบันปัญหาบ้านขายไม่ออก เพราะ Supply หลังโควิดมีมากขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีกำลังซื้อ กำลังการผลิตก็ปรับตัว ของใหม่ก็ลดลง ซึ่งเป็นการปรับตัวตามกำลังซื้อที่เป็นข้อเท็จจริง ดังนั้น ภาครัฐไม่ควรเข้าไปยุ่งกลไกตลาด แต่ต้องอำนวยความสะดวกให้กลไกเกิดขึ้นได้เร็ว ทั้งมาตรการภาษี และมาตรการด้านการเงิน ให้ตลาดทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"
โดยความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เป็นปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจไทย สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ แต่มีฐานะแข็งแกร่ง จึงยังไม่เป็นกลไกในการผลักดันภาวะเศรษฐกิจที่ดีพอ เพราะฉะนั้นต้องพัฒนา สนับสนุนให้เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น เรื่องนี้ต้องมีการคุยกัน และหาจุดสมดุลระหว่างเสถียรภาพกับศักยภาพ มีเสถียรภาพแต่ไม่มีศักยภาพ ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งปัจจุบันไม่มีความสมดุล เพราะอิงเสถียรภาพมากกว่า
#คลัง #ภาษีที่ดิน #เกณฑ์LTV #อสังหา